กลับไปดูผลงาน
ผลงานส่งร่วมประกวดประเภทบทความ

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น


ชนิศรา จันทรโคตร

         ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คงเป็นคำที่เด็กศิลปากรหลายคนเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง ตาม...ป้ายในห้องสมุด, ลายสกรีนเสื้อ, ฟิลเตอร์ไอจี หรือในทวิตเตอร์ที่ปรับคำให้ถูกใจวัยรุ่นมากขึ้นอย่าง ‘ศิลปะยืนยาว ดินสอสั้น’ จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของข้อความสั้น ๆ นี้ เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องศิลปะหรอก ก็แค่จะมาแชร์แนวคิดในฐานะเด็กศิลปากรคนหนึ่ง Chapter 1 ศิลปะ? ก้าวแรกของการเป็นเด็กศิลปากร ได้อวดถึงการสอบติดคณะที่ชอบงั้นเหรอ เปล่าเลย ต้องมานั่งตอบคำถามต่างหาก เพื่อนของพ่อแม่ ญาติ แม้แต่ป้าข้างบ้าน กับคำถามที่ว่า “เรียนศิลปากรต้องวาดรูปเก่งแน่เลยใช่มั้ย” จริงอยู่ว่าศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะ แต่พอมองถึงเหตุผลที่ทำให้เราต้องมาตอบคำถามเดิมซ้ำไปมาหลายครั้ง ก็เกิดคำถามในหัวขึ้นมาว่า การปลูกฝังว่า ศิลปะ = การวาดภาพ มาจากไหน จริง ๆ แล้วศิลปะคืออะไร ถ้าว่ากันตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้นิยามว่า ศิลปะ คือ ฝีมือ ฝีมือทางการช่าง การแสดงซึ่งอารมณ์ สะเทือนใจ ให้ประจักษ์เห็น แต่นิยามทั้งหลายเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่ถูกตั้งขึ้นมาโดยมนุษย์ทั้งนั้น กำหนดกฎเกณฑ์ แบ่งแยก จัดรูปแบบ การตัดสินผลงานสักชิ้นที่ผิดหลักเกณฑ์ทางศิลปะทั้งหมด อาจารย์ผู้ตรวจอาจให้คะแนนติดลบ แต่เมื่อมันได้ออกสู่สายตาของผู้คนอีกนับล้าน อาจจะกลายเป็นผลงานชิ้นเอกของโลกใบนี้ก็ได้ ก็ความชอบทางศิลปะมันเป็นปัจเจกบุคคล อย่างไรก็ตามเราสามารถสร้างงานศิลปะได้หลากหลายรูปแบบ เราไม่ใช่สายวาดรูป แต่เราร้องเพลงเสียงใสอย่างนกไนติงเกล นั้นก็เป็นวิธีสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นขอที่ยืนให้เด็กศิลปากรที่ไม่ได้เป็นสายวาดภาพ หรือวาดไม่เก่งด้วยนะคะ Chapter 2 ยุคสมัย และ ใฝ่ฝัน กล่าวถึงศิลปะไปเยอะแล้ว ขยับมาที่หัวข้อวงการศิลปะกันบ้าง Baby Boomer, Gen-X, Gen-Y หรือแม้แต่ Gen-Z ผู้รักในศิลปะแต่ละยุคสมัยก็มีความฝันที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ล้วนอยากให้เกิดขึ้นในวงการศิลปะนี้ คือ ‘การเจริญเติบโต’ แน่นอนว่ามันสามารถเกิดขึ้นในประเทศของเรา หากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ อาร์ตแกลอรี่กระจายอยู่ในทุกเมือง ทุกชนชั้นเข้าถึงศิลปะได้ สังคมที่ให้คุณค่ากับศิลปะมากขึ้น ยังมีความฝันอีกมากมายที่รอวันเป็นจริง แต่แล้วสิ่งที่เคยวาดฝันว่าสักวันจะเป็นจริง ก็มลายไปในพริบตาเพราะการมาถึงของ โควิด-19 อย่าว่าแต่ความฝันในวงการศิลปะเลย แค่ความหวังในการมีชีวิตรอดไปวัน ๆ ไปยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ช่วงชีวิตวัยรุ่นหายไปแล้วร่วมปี การเข้าถึงราคาของศิลปะงั้นเหรอ แม้แต่ราคาข้าวปลาอาหารก็มีผู้คนอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึง กล่าวแบบนี้เพราะจงใจด้อยค่าศิลปะหรือ เปล่าเลย เพราะสำหรับเรา การถือกำเนิดของทุกชีวิตล้วนเป็นศิลปะอันงดงามของจักรวาลนี้แล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้มันร่วงโรยต่างหาก คือสิ่งที่เราอยากกล่าวโทษ ในช่วงเวลาที่เด็กน้อยควรได้เติบโตดั่งเมล็ดพันธุ์ที่หว่านโดยผู้คนเจเนอเรชั่นก่อน ณ สวนอันกว้างใหญ่ที่ถูกเรียกว่าสังคม กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ต้องเติบโตในกระถางใบเล็ก ณ สวนหลังบ้าน ความผิดพลาดที่ไร้ซึ่งผู้รับผิดชอบ Chapter 3 บทสรุปของอนาคตนั้นสำคัญไฉน เพิ่งจะเข้าใจคำว่า ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น’ ของจริง ในวันที่มองไม่เห็นความปลอดภัย การเจริญเติบโต แม้แต่ความสุขในการใช้ชีวิต ไร้ซึ่งหนทางให้ก้าวต่อ เริ่มมองไม่เห็นอนาคต ในปี 2564 นี้ ผู้คนยุคใหม่จำนวนมากมีความต้องการจะย้ายประเทศ คงไม่ใช่เรื่องหน้าแปลกที่พวกเขาจะมองหาอนาคตโดยเลือกที่จะไปเติบโตในชาติที่สนับสนุนการมีอยู่ของตน และคงเป็นเรื่องยากที่จะให้เติบโตในชาติที่ไม่แม้แต่จะฟังเสียงของคนยุคใหม่ ถ้าบทความนี้เป็นภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง เราคงเดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว บทสรุปของเรื่องจริงอันเจ็บปวดนี้ คงจะเป็นประโยคคลีเชสั้น ๆ ว่า ‘ชีวิตศิลป์ปราศจากซึ่งความฝัน ถ้าหากมันยังไร้อนาคต’ ลาจากกันด้วยเครดิตท้ายเรื่อง ชนิศรา จันทรโคตร ขอจบเรื่องราวไว้เพียงเท่านี้ สวัสดี

คณะกรรมการตัดสิน
ผศ.อริน เจียจันทร์พงษ์
อาจารย์ญาณิน พงศ์สุวรรณ
อาจารย์อรรณนพ ชินตะวัน
กำลังใจจากเจ้าของผลงาน

          ศิลปะ ทำให้เห็นช่องของความเหลื่อมล้ำในประเทศชัดขึ้น ขอให้ผู้คนในแวดวงศิลปะจงทำในสิ่งที่รักต่อไป สักวันงานของคุณจะถูกผู้คนค้นพบ