ฟ้าใส มีเมฆประปราย สายลมลู่เส้นผม ตรงหน้าคือภาพชุมชนริมน้ำตลอดเส้นทางทั้งฝั่งกระนี้แลฝั่งกระโน้น
เสียงเครื่องยนต์อื้ออึงยามออกตัวไปยังจุดหมายปลายสายตา ชุมชนมอญที่ได้รับการขนานนามในคำขวัญจังหวัดว่า ‘เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา’ แห่งจังหวัดนนทบุรี
คำว่า ‘เกร็ด’ เป็นคำโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา มีความหมายว่า ทางน้ำเล็กที่เชื่อมลำน้ำสองสาย ชื่อเรียกนี้จึงถูกนำมาใช้เมื่อชาวบ้านขุดคลองลักษณะนี้ลัดเข้าเกาะ ควบรวมกลายเป็นลัดเกร็ด
มีทั้งลัดเกร็ดใหญ่ซึ่งปัจจุบันคือสามโคก และลัดเกร็ดน้อย หรือในชื่อเกาะเกร็ดที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง
ส่วนคำว่า ‘แหล่งดินเผา’ หมายถึง ‘เครื่องปั้นดินเผา’ อันโด่งดัง จนมีชื่ออยู่ในคำขวัญของที่นี่
จักรยานเช่าพาฉันมาหยุดหน้าป้ายแผนที่ บอกให้ทราบว่า บริเวณนี้คือที่ตั้งของ ‘กลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา’
เข้ามาด้านใน 2 ข้างทางรายล้อมไปด้วยเครื่องปั้นหลากหลายรูปทรงซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน
ทว่าสิ่งที่ไม่อาจพลาดสายตาไปได้เลยคือ เตาเผาก่อด้วยอิฐมอญเก่าแก่ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ในรั้วบ้านระหว่างทางเข้าไปยังกลุ่มหัตถกรรม
“อุตสาหกรรมโอ่งเฟื่องฟูสุด รุ่นประมาณรุ่นตารุ่นพ่อเนี่ยล่ะ พวกมอญสามโคกมาคอยรับโอ่ง เรือลำใหญ่ ๆ จอดตั้งแต่ข้างล่างยาวไปถึงข้างบน ทำออกมาทีเกือบไม่เหลือของหน้าเตา” พล.ร.ต.ไพรัตน์ รัตนอุดม หรือพี่ปุ้ย ผู้อาศัยอยู่ในเขตชุมชนมอญ หมู่ 1 บอก
เขาเล่าต่อว่า แรกเริ่มทรงเครื่องปั้นมีทั้งโอ่ง อ่าง ครก กระปุกและอีกมากมาย ส่วนใหญ่ทำใช้ในครัวเรือนหรือทำเป็นของที่ระลึกฝากฝีมือให้เพื่อนบ้าน บ้างก็ทำไปแลกข้าวเปลือกกับชาวนา แลกปลากับชาวประมง ก่อนจะกลายเป็นสินค้าส่งออกผ่านทางเรือของมอญสามโคก เป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา
แต่ดั้งแต่เดิม ดินที่ใช้ปั้นมาจากการขุดบ่อลึกในเกาะเกร็ด ผ่านกรรมวิธีนวดเหยียบโดยใช้แรงกระบือ
ส่วนปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามามีบทบาทในกระบวนการเตรียมดิน
แม้จะช่วยให้สะดวกมากขึ้นแต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนกลิ่นอายของวิถีชีวิตบางอย่างได้เลือนหายไปตามกาลเวลาอย่างไรอย่างนั้น
ในอดีต มีการเปิดเตาเผาปีละครั้ง หรือ 2 ครั้ง เพราะกว่าจะปั้นเสร็จก็หลายเดือน อีกทั้งหนึ่งเตาใช้เผาได้เป็นร้อยใบจึงเกิดการหุ้นเตาขึ้นเพื่อให้ช่างปั้นพากันมาเวียนกันนำเครื่องปั้นเข้าเตาทีละเจ้า
กลับกันถ้าครัวเรือนไหนมีธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นอาจมีเตาแยกของกิจการตนเองและเปิดเตาได้มากครั้งตามต้องการ
“ช่วงเช้าศิษย์ก็จะมาเก็บกวาดก่อน ทุกอย่างต้องเริ่มจากการ ‘ตีกลอน’ วันนี้จะปั้นอะไร ถ้าจะปั้นโอ่งก็ต้องขึ้นฐาน ขึ้นฐานก็ต้องตีกลอน” พี่ปุ้ย บอก
ตามประเพณีของมอญ ช่างปั้นจะได้รับการยกย่องว่าเป็นอาจารย์ แต่การขึ้นรูปนั้นต้องใช้คนทำงาน 2 คน จึงมักจะมีลูกศิษย์อีกหนึ่งคนคอยช่วยเหลือ
ส่วนคำว่า “กลอน” ในภาษามอญแปลว่างูเหลือม ใช้เรียกแทนเทคนิคการปั้นเส้นดินเป็นทรงกลมยาวลักษณะคล้ายงู สำหรับขดซ้อนกันทีละเส้นเพื่อขึ้นหุ่นเครื่องปั้น ซึ่งวิธีการนี้ในภาษามอญเรียกว่า “ยั่วต้าย”
ในอดีตนิยมทำเครื่องปั้นชนิดของใหญ่ การขึ้นรูปเป็นหน้าที่ของอาจารย์ ส่วนศิษย์จะเป็นผู้ตีลูกกลอนเตรียมไว้รอ
เมื่อยั่วต้ายเสร็จศิษย์จะเปลี่ยนไปเป็นผู้ช่วยคอยหมุนแป้นด้านล่างให้อาจารย์ใช้ผ้าดิบชุบน้ำแต่งทรง
การทำงานร่วมกันเช่นนี้จะได้ฐานโอ่งครึ่งใบในวันแรก และต้องรอจนแห้งหมาดรับน้ำหนักได้แล้วค่อยเริ่มปั้นครึ่งบนต่อในวันถัดมา
ปัจจุบันนี้ยังคงใช้เทคนิคคล้ายกันในการขึ้นรูป แต่เปลี่ยนเป็นช่างเพียงคนเดียวกับแป้นหมุนอัตโนมัติแทน โดยมีดินเหนียวเป็นวัสดุหลัก กอปรกับน้ำโคลนชโลมตอนโอบฝ่ามือเพื่อสร้างรูปทรงที่ต้องการ เมื่อได้รูปทรงที่ต้องการแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการแกะสลัก
ขณะกำลังจะเดินเข้าไปชมห้องจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาของกลุ่มหัตถกรรม ความสนใจของฉันถูกดึงดูดด้วยโอ่งขนาดใหญ่ที่เรียงแถวอยู่ด้านหน้าแม้จะไม่ได้มีลวดลายละเอียดประณีตเท่ากับงานด้านใน แต่จากป้ายและลายสลักก็บ่งบอกได้ว่าชิ้นงานเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 50-100 ปี! ทว่ายังคงความแข็งแกร่งและสง่างามตามฉบับเครื่องปั้นมอญไว้ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
นอกจากลวดลายที่แตกต่างกันแล้ว เนื้อโอ่งยังมีความหนาและแน่นคาดได้ว่าน้ำหนักคงมากโข ไม่แปลกที่สมัยก่อนถึงกับต้องใช้การกลิ้งเข้าเตาแทนการยกเพื่อเคลื่อนย้าย
ส่วนฝา แทนที่จะเป็นฝาปิดเหมือนโอ่งทั่วไป กลับมีลักษณะเป็นอ่างก้นกลมที่ครอบปิดด้านบน สร้างเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นและอัตลักษณ์ของช่างฝีมือไว้ในงานเดียวกัน
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ การเผาเนื้อดินเหนียว มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากเท่าการเตรียมดิน มีจุดประสงค์เพื่อให้ดินเหนียวสีคล้ำกลายเป็นสีดินเผา อาศัยความพิถีพิถันในการใช้เตาถ่านควบคุมความร้อนเสริมความสมบูรณ์ให้แก่ชิ้นงาน
ผิวของเครื่องปั้นเป็นสีดินเผาโดยธรรมชาติที่ได้รับผลจากประเภทฟืนที่ใช้ และการจัดวางตำแหน่งของเครื่องปั้นน้อยใหญ่
แต่ครั้งหลังมานี้ เมื่อเตาเก่าถูกวิกฤตอุทกภัยพลัดพรากไป เตาเผาแบบใหม่ใช้ไฟฟ้าก็เข้ามาแทนที่เพื่อให้สะดวกต่อการผลิต ทั้งนี้ก็เพื่อปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่ของสังคมและก้าวทันความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
.
“…ทีนี้ยังพอนั่งทำไหวก็ทำ หมดแรงไม่ไหวก็เจ๊ง มันเป็นมะเร็งลำคอ แต่ก็ยังนั่งทำงานสบาย อาศัยกำลังใจ งานอย่างนี้มันเพลินนะหนู ทำแล้วมันไม่ได้คิดอะไร เพลินไปเรื่อย” ลุงอู๊ด ศรีเมือง ทรรนุรานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดินสาขาเครื่องปั้นดินเผาปี 2561 พูดไปยิ้มไประหว่างที่กำลังบรรจงแกะลายโบราณลงบนเครื่องปั้นดินอย่างชำนาญมือ
บทสนทนาตลอดบ่ายวันนั้นดำเนินไปอย่างเรียบง่าย แต่กลับทิ้งทวนความรู้สึกบางอย่างให้ตกตะกอนอยู่ภายในใจ
“ตอนหลังงานพวกนี้ก็ขายไม่ได้แล้ว ตลาดไม่มี มีของทดแทนหมด” ลุงอู๊ด ย้อนความกลับมาถึงปัจจุบัน
ฉันเข้าใจข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างดี เมื่อมีเรื่องการกินอยู่เข้ามาด้วยแล้ว งานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาก็เริ่มขายยากขึ้น วัตถุดิบราคาแพง ค่าแรงสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ช่วงหลังมาเราจึงได้เห็นงานหัตถกรรมน้อยลงในตลาดของเครื่องใช้ เปลี่ยนไปลงตลาดงานฝีมือที่มีราคาสูงกว่าแทน
“ลายโบราณแบบนี้ไม่มีใครเขาทำแล้ว ลุงมาประดิษฐ์กนกใส่เข้าไป เอาสร้อยล้อมเข้าไป ก็ดูสวยขึ้น” ลุงบอก
ฉันอดประทับใจในความคิดสร้างสรรค์ของคุณลุงไม่ได้ ไหนจะอุปกรณ์แกะสลักที่ใช้ ลุงอู๊ดก็บอกว่า ไม่ได้ไปหาซื้อที่ไหนไกล ให้มองเอาจากใกล้ตัว เช่น หลอด เสาโทรทัศน์ เป็นต้น
ลายโบราณที่ลุงอู๊ดว่า หมายถึงลายแบบมอญโบราณ ทั้งบัวคว่ำ บัวหงาย อันเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นพุทธศาสนิกชนของชาวมอญ
ความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ คือ วิธีการสร้างลาย ชาวมอญเกาะเกร็ดผู้ประกอบอาชีพปั้นดินเผาแต่ละรายต่างก็มีเทคนิคที่แตกต่างกันไป อย่างกรณีของลุงอู๊ด เมื่อใครต่อใครเขามองลายแบบนี้ก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นงานของลุงอู๊ด
หรือถ้าเป็นลายโบราณที่สร้างด้วยการพิมพ์ลาย เขาเรียกกันว่า ‘หม้อน้ำลายวิจิตร’ ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาลักษณะนี้เป็นแบบเดียวกับภาพที่ปรากฏบนตราประจำจังหวัดนนทบุรีด้วย
“หม้อน้ำลายวิจิตรนั่นมันสมัยก่อนนู้น เวลาเลิกงานแล้วก็มานั่งปั้นหมอปั้นโอ่งไว้แกะสลักลายแข่งกัน ลายไม่ได้ละเอียดอย่างนี้หรอก ส่วนมากจะใช้พิมพ์ แกะลายด้วยหนามทองหลางใหญ่ ๆ เอาดินอัดแล้วคอยปั๊ม นาน ๆ ไปก็หลุด สมัยก่อนเขาไม่รู้วิธี ถ้าแกะเข้าไปเลยมันจะเป็นเนื้อเดียวกัน”
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความชำนาญเหล่านี้เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ตลอดหลายปี ฉันถามลุงอู๊ดว่าการเป็นช่างปั้นสำหรับคุณลุงแล้วมีความหมายอย่างไรกับเขาบ้าง
ลุงตอบอย่างไม่ลังเลว่า ช่างปั้นเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัว ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการเอง ต้องกระตือรือร้นตลอดเวลา คอยดูแล คอยใส่ใจ พอมาทำโรงงานเองลุงก็ตั้งหลักตั้งฐานส่งลูกเต้าเรียน
“ลุงเห็นว่าในอนาคตงานนี้มันไปไม่ได้ หลังสงครามก็มีของพวกนี้มาแทนเยอะ ลูกก็ส่งเรียนไปไม่ต้องมาทำอย่างนี้ พอเขาเรียนเขาก็ไปรอด ลุงสบายใจ ไม่มีใครเดือดร้อน”
ด้วยสภาพเศรษฐกิจและตลาดที่ยากต่อการหารายได้ การสร้างงานหัตถกรรมหนึ่งชิ้นจำต้องใช้ความประณีต เงินทุน และระยะเวลามาก ฐานะของคนในประเทศก็เป็นชนชั้นกลางกันเสียส่วนใหญ่ สินค้าสิ้นเปลืองจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมน้อยลงเมื่อมีทางเลือกที่ราคาถูกกว่าเข้ามาแทน จึงไม่แปลกที่ลุงอู๊ดจะตัดสินใจส่งลูกเรียนไปทำงานอย่างอื่นแทนเพราะคุ้มค่ามากกว่ายึดอาชีพช่างปั้นเป็นหลักอย่างในอดีต
ขณะเดียวกัน คำพูดดังกล่าวยังสะท้อนความเป็นจริงอีกประการ ชาวมอญเกาะเกร็ดและผู้ที่ดำรงอาชีพช่างปั้นเองต่างก็โตมาพร้อมกับเครื่องปั้นดินเผา มันคงเป็นเรื่องที่น่าใจหายไม่น้อยหากสิ่งเหล่านี้เลือนหายไปในวันหนึ่ง
“…มันไม่ค่อยมีคนสนใจฝึกทำงานอย่างนี้ งานอย่างของลุงก็ขายราคาถูกไม่ได้ คนสืบทอดมันไม่มี มันไม่ใช่งานที่ตลาดต้องการ เฉพาะคนมีเงินที่จะสนใจ ส่วนคนที่เขามาขอฝึกขอเรียนด้วย จะมานั่งสามวันสี่วันก็ไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องสามสี่เดือน” ลุงอู๊ดว่าเช่นนั้นในตอนท้ายของบทสนทนา
“ผลิตภัณฑ์นี้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของนนทบุรี เราต้องรักษาเอกลักษณ์พวกนี้เอาไว้”
สุรัตน์ บัวหิรัญ ประธานกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา บอกฉัน และยังว่า การทำงานตรงนี้คือการขายอัตลักษณ์ของเรา แทนที่จะสูญหายก็ต้องอนุรักษ์ เอามาพัฒนาเพื่อให้คงอยู่ต่อไปเป็นสมบัติของรุ่นลูกหลาน
เดิมลุงสุรัตน์ อยู่กับเครื่องปั้นมาตั้งแต่เกิด พอเป็นวัยรุ่นก็ยังทำงานอยู่ในโรงงานเครื่องปั้นแถวนี้ จนกระทั่งพอโตเข้าได้เล่าได้เรียนจึงไปทำงานในโรงงานอื่นถึง 16 ปี
“แต่เรามีงานตรงนี้อยู่ เราก็กลับมา มาดูแลงานตรงนี้ มาอนุรักษ์ มาพัฒนาตรงนี้ เพราะตรงนั้นมันแค่ลูกจ้าง ตรงนี้มันรากเหง้าของเรา มันคือชีวิต มันคือตัวตน มันอยู่ในสายเลือด แม้จะมีรายได้ไม่มากมาย เพราะเราไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือนประจำ แต่สามารถช่วยกันพัฒนาความเป็นอยู่ตรงนี้ได้”
ฟัง ลุงสุรัตน์ เป็นผู้ประสานงานหลักในการจัดขายสินค้าจากกลุ่มหัตถกรรม แล้ว ก็เข้าใจความรู้สึกของลุงอู๊ด ก่อนหน้านี้มากยิ่งขึ้น ต่อความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของงานหัตถกรรมจนถึงปัจจุบัน
ฉันถามต่อว่า สถานการณ์ตลาดตอนนี้เป็นอย่างไร ลุงสุรัตน์อธิบายให้ฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นปัญหาไม่น้อย เพราะในบางครั้งผู้บริโภคก็ไม่เข้าใจเรื่องระยะเวลาในการทำ หน้าร้านวางขายก็ไม่มี เนื่องด้วยปัจจัยทางด้านการลงทุนที่มากขึ้น
“ถ้าถามว่าทำไมไม่ขายออนไลน์ มันไม่ได้ สินค้าเราต้องจับ ต้องดู เพื่อความพึงพอใจ การปักหลักอยู่ในที่อยู่ดั้งเดิมของตนเองและให้ผู้ซื้อเข้ามาดูหน้างานด้วยตนเอง จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและในโอกาสสำคัญก็จะมีออกงานจัดแสดงสินค้า”
กระบวนการทำงานเป็นขั้นตอนได้รับการบอกกล่าวอย่างเป็นธรรมชาติ แม้จะไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีผู้ช่วย แต่คุณลุงทั้งสองท่านก็ไม่ได้ย่อท้อและมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเต็มความสามารถ
ชีวิตจริงก็เป็นเสียอย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีความหมายเพียงประการเดียวว่า สิ่งที่อาจารย์ช่างปั้นพึงรักษาไว้จวบจนบั้นปลายชีวิตจะหายไป
เพียงแต่งานฝีมือเหล่านี้ต่างหากที่จะฝากฝังเอาไว้บนเครื่องปั้นดินที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก
เป็นเรื่องราวชีวิตชาวมอญผ่านงานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เสมือนว่าหนังสือเล่มแรกได้จบลงอย่างสวยงามและส่งไม้ต่อให้หนังสือเล่มต่อไปของคนรุ่นใหม่
อ้างอิง
ประวัติชุมชนเกาะเกร็ด http://www.culture.go.th/culture_th/pculture/nonthaburi/1_1.html
เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด https://www.ipthailand.go.th/th/gi-011/item/40-สช-55100040-เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด-2.html
การศึกษาภูมิปัญญาหม้อน้ำลายวิจิตรเกาะเกร็ด http://www.sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/10958
เครื่องปั้นดินเผานนทบุรี https://www.stou.ac.th/study/projects/training/culture/content/index.htm
เรื่องและภาพ: ปริณดา พันธุ์วา นักเรียนภาพยนตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร