แกงส้มปลากดร้อน ๆ เครื่องแกงแน่นหอมฉุยที่อยู่ต่อหน้า ตักเข้าปากรับรู้ได้ถึงความเผ็ดจัดจ้านของอาหารใต้
ปลากดที่ว่านี้ได้จากการ ‘ยกยอ’ คือ การทำประมงพื้นบ้านด้วยไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ไขว้กันเป็นกากบาทแล้วผูกร่างแหไว้ทั้ง 4 มุม เหมือนสวิงช้อนปลาขนาดยักษ์
ที่นี่ “คลองปากประ จ.พัทลุง”
เรือออกจากท่าเรือบ้านต้นลำพู ที่คลองแห่งนี้เมื่อเวลารุ่งสางของวัน
ทันทีที่หัวเรือพ้นออกมาจากปากทางออก พระอาทิตย์แสงสีส้มสดใสกำลังเคลื่อนตัวขึ้นจากผิวน้ำ สาดแสงทองลงมาจากฟากฟ้าลงสู่น้ำ ท้องฟ้าเต็มไปด้วยสีส้มเหลืองอบอุ่น ก้อนเมฆรวมตัวกันเป็นกระจุก พร้อมกับความครึ้มและอากาศเย็นสบายผ่อนคลาย
แม่น้ำดูเงียบสงบ พบเพียงเสียงคลื่นน้ำและฝูงปลาแหวกว่าย
แต่สิ่งที่ทำให้ลำคลองนั้นดูมีชีวิตชีวา คือเหล่าบรรดา ‘ยอยักษ์’ ที่รายล้อมไปเต็มคลอง
ข้างหน้าคือ ‘ยอ’ ที่กำลังถูกยกขึ้นมาจากแม่น้ำโดยชายคนหนึ่งที่ปีนขึ้นไปบนไม้คานอีกฝั่งเพื่อถ่วงน้ำหนัก ‘แห’ ยออีกฝั่งที่ผูกด้วยไม้ไผ่ก็พลันยกขึ้นอย่างง่ายดาย ตักตวงแสงอาทิตย์สีแสดให้ได้ชม
เพ่งดูยังพบชาวบ้านที่นี่กำลังจับปลาอยู่ในคลองระดับน้ำประมาณหน้าอก โดยถือไซที่ดักได้แล้วพ้นน้ำแกว่งไปมา
‘ลุงแบน’ คนขับเรือทักทายชายที่ดักปลาได้อย่างคุ้นเคย ชาวบ้านนั่งเรือผ่านไปอย่างไม่เร่งรีบเหมือนกับว่าเวลาไม่สามารถทำอะไรพวกเขาได้อีก
เสียงเรียกเตือนจากพระอาทิตย์สาดแสงอุ่นมาที่หน้าฉัน แสงส้มเลือนหายไปเหลือเพียงแต่แสงขาวนวลผ่องลงมายังผิวน้ำ ราวกับบ่งเตือนยามสายของวัน
7 โมงนิด ๆ ชาวบ้านเริ่มเคลื่อนตัวจากยอ เหลือชีวิตในลำคลองไม่กี่ชีวิตที่ฉันเห็น
ลุงพายเรือไปที่เสาหลักยอแห่งหนึ่ง พลางบอกให้ฉันลองขึ้นไป
เพียงปีนบันไดไม้ไม่กี่ขั้นฉันก็อยู่บนยอท่ามกลางลำคลองและเหล่ายอยักษ์นับร้อยรายล้อมรอบตัวฉัน
เสียงคลื่นน้ำเคลื่อนตัวผ่านไปช้า ๆ ทำให้ฉันหลงลืมช่วงเวลาไปขณะหนึ่ง
‘ยอ’ เป็นการประมงพื้นบ้านแขนงหนึ่งที่ชาวบ้านคลองปากประ จ.พัทลุง ได้สร้างสืบต่อกัน มีมานานกว่า 20 ปี ส่วนประกอบของยอนั้นน่าสนใจ เพราะเป็นโครงสร้างที่ชาวบ้านทำกันเอง
ลุงนักนำทาง เล่าว่า เขาเป็นคนสร้างยอนี้เองด้วยการปักไม้ลงกลางน้ำ
ไม้ที่นำมาทำคือ ไม้เสม็ด ชาวบ้านซื้อมาจากทะเลน้อยซึ่งเป็นทะเลอีกฝั่งหนึ่งที่เชื่อมกับคลองปากประ ส่วนแหยอที่ได้ก็ทำกันเอง บ้างก็ไปซื้อมา
บางพื้นที่ในตำบลที่หลังบ้านเป็นริมคลองต้องการสร้างยอแบบถาวร อาจจะใช้คานเหล็กและปูนเพื่อถ่วงน้ำหนัก ไม้ไผ่ผูกกับเชือกและแหยอนั้นเรียกว่านิ้วยอ
ขั้นตอนการสร้างเริ่มต้นจาก ปักเสาหลักลงบนดินลึกผิวน้ำ ตอกตะปูต่อกันเป็นโครง เมื่อได้นั่งร้านแล้วจึงเริ่มสร้างตัวไม้คาน ตอกไม้ต่อกันเป็นบันไดยาว เชื่อมกับยอที่สร้างจากไม้ไผ่สี่ทิศผูกตรงกลางเชื่อมกับแหยอ จนได้เป็นนิ้วยอดังกล่าว เมื่อยอขึ้นมาได้ปลาจากนั้นจึงใช้ไม้ตาข่ายยาวตักปลาขึ้นมา แล้วนำไปทำความสะอาดเตรียมการส่งขายออกไปนำรายได้สู่ชุมชน
“ความรู้ในห้องเรียนวิชาฟิสิกส์อย่างการถ่วงน้ำหนักคงไม่จำเป็น นี่เป็นภูมิปัญญาสืบต่อกันมาจากชาวบ้าน ทำให้ใครก็ตามที่ต้องการสร้างก็สามารถทำได้ทันที” ฉันคิดในใจ
ถามถึงเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือเปล่าในการทำประมงแบบนี้ ลุงบอกว่า ชาวบ้านที่นี่สร้างยอขึ้นจากไม้ทั้งหมดโดยการขนมากับเรือเอง แหยอที่ใช้ก็เป็นตาข่ายกว้าง 6 นิ้ว ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นปลาลูกเบร่ (ในภาษากลางคือปลาซิว) และปลาตัวเล็กตัวน้อยอื่น ๆ นอกจากนั้นคือ ปลาช่อน ปลากด ปลาแขยง
ส่วนปลาขนาดกลางและขนาดใหญ่จะไม่ค่อยมี
ฉันทราบว่า การจับจองพื้นที่ในการสร้างยอนั้นก็ไม่มีกำหนดห้ามสร้าง ชาวบ้านอยากจะลงเสาหลักตรงไหนก็ลงได้เลย เพียงแต่อย่าลงเสาขวางทางเรือก็เพียงพอแล้ว
สายน้ำที่ไหลผ่านหลังบ้านมาจากเทือกเขาบรรทัด บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่แห่งนี้ และวิถีชีวิตของการใช้ชีวิตริมคลอง
ชาวคลองปากประทุกบ้านใช้การยกยอในการจับปลาหาเลี้ยงชีพ บ้านที่ติดริมคลองอย่างน้อยต้องมีบ้านละ 1 ยอ
“ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ยอนี้ก็สร้างเอง 20 ปีก่อนใช้ยอตักปลาได้วันละหลายสิบโล ยกยอประมาณ 5 นาทีต่อครั้งก็ได้ปลาแล้ว”
ปลาที่ได้มีเหลือล้น จะทานเองก็ไม่หมด จนเมื่อไม่กี่ปีมาคนมาสร้างรีสอร์ท และร้านอาหาร คลองปากประจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์ ลุงแบนและชาวบ้านจึงมีรายได้จากการรอคนมารับซื้อ
บรรดาร้านอาหารริมคลองปากประกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่โดดเด่น เพราะเห็นทิวทัศน์ของยอในลำคลองสุดลูกหูลูกตา
ปลาที่ทางร้านรับซื้อก็ได้จากปลาที่ชาวบ้านจับได้ในชุมชน
ปลาที่ตักได้จากยอ อย่างปลาลูกเบร่ เมื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการทำเมนู ปลาลูกเบร่ทอดขมิ้น หรือยำปลาลูกเบร่ ทำให้เป็นเมนูที่ลูกค้าสั่งบ่อยที่สุด
ยังมีกุ้งแม่น้ำ ปลากด ปลาช่อน ที่ทางร้านจะรับซื้อจากชาวบ้านโดยตรงเองทั้งหมด นอกจากจะทำรายได้ให้ทางร้านเองแล้ว ยังกระจายรายได้สู่ชุมชนและชาวประมงด้วย
แต่หากบางช่วงเวลาที่ร้านไม่มีลูกค้าหรือนักท่องเที่ยว ก็จะส่งผลกระทบต่อทางร้านเองและชาวประมงที่ทางร้านรับซื้อปลาด้วย เพราะร้านจะรับซื้อปลาน้อยลง ชาวบ้านไม่ยกยอ เกิดผลกระทบต่อวิถีประมงต่อเนื่อง
“เคยขายได้วันละหมื่นในช่วงหน้าฝนที่น้ำไหลเชี่ยวและฝนตกหนัก” ลุงบอก
แต่ลุงก็บอกต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีการประมงทางทะเลโดยการลากอวนจับปลา และการสูบน้ำจืดเข้าทำนาของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำจืดในคลองปากประลดลง น้ำเค็มจากทะเลไหลเข้ามาแทนที่ และการที่ฝนตกไม่หนัก น้ำจากต้นคลองไม่ไหลเชี่ยวเหมือนแต่ก่อน ทำให้ชาวประมงยกยอมาแล้วไม่ได้ปลาเลยแม้แต่ตัวเดียว”
ด้วยสภาพแบบนี้ ชาวคลองปากประจึงหันไปทำประมงแบบอื่น เช่น การดักไซ หว่านแห ซึ่งจะได้ปลาหัวโบ้ง และปลาชนิดอื่นแตกต่างกันออกไปตามการใช้วิธีการประมง
ส่วนลุงแบน ก็หันไปทำการเกษตร และการดักไซเพียงอย่างเดียว
และเฝ้ารอคอยในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่น้ำจะขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องและภาพ: ณัฏฐธิดา เตละกุล