นนทบุรีกำลังตามรอยกรุงเทพฯ ผังเมืองไร้ทิศทาง ทำคมนาคมแย่ ซ้ำฝนตกน้ำระบายช้า เหตุสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ แถมกระทบพื้นที่สีเขียวจนติดโผพื้นที่ต่อคนน้อยสุดในประเทศ นักวิชาการย้ำผังที่ดี ทุกคนต้องมีสิทธิเท่ากัน
“ทุกวันนี้ต้องออกจากบ้านก่อน 6 โมง ถ้าออกช้ากว่าเดิมแค่ 15 นาที จะใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ชั่วโมง ถ้าออก 7 โมง ก็ไปทำงานสายแน่นอน ถนนตรงรัตนาธิเบศร์ข้ามแยกแครายเป็นคอขวด พอติดจุดนี้แล้วก็ติดไปจุดอื่นด้วย เมืองมันไม่ไหลลื่น”
เมื่อ 33 ปีที่แล้ว สมัยที่ ภูมิใจ ภูวะนสุขสุนทร ยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย เพิ่งย้ายบ้านมาอยู่ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เขาสามารถเดินทางจากหมู่บ้านปัญฐิญาไปวัดโชติการาม ระยะทาง 3 กิโลเมตร ได้ด้วยจักรยาน เพราะรถไม่เยอะนัก 2 ข้างทางยังเป็นสวน ไร่นา มีหมู่บ้านจัดสรรเพียงไม่กี่แห่ง แต่ปัจจุบันทุกเช้าที่ต้องไปทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งย่านศรีย่าน กรุงเทพฯ ต้องรีบตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อฝ่าการจราจรติดขัด
ไม่ต่างจาก ไพเราะ กู๋ทะ พยาบาลในอำเภอบางใหญ่ที่ต้องตื่นตั้งแต่ 04.30 น. เพื่อเข้างานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ทันตอน 07.00 น. เธอบอกว่า ที่ไม่ตัดสินซื้อบ้านในกรุงเทพฯ เพราะเมืองแออัดและมีราคาสูงเกินกำลัง กังวลว่าจะผ่อนไม่ไหว รวมถึง 25 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีเงินมากพอจะดาวน์บ้านในราคาที่สูงมาก จึงต้องมาซื้อบ้านในนนทบุรีที่เป็นพื้นที่ใกล้เคียงแทน
เมื่อ 10 ปีก่อน จังหวัดนนทบุรี มีประชากร 1,078,071 ล้านคน ปัจจุบันมีประชากร 1,265,387 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 2 แสนคน จากเอกสารรายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2562 ยังระบุว่า ที่นี่มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ และเป็นเมืองแฝด คือเมืองที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ติดกันและมีการเจริญเติบโตเชื่อมถึงกัน ทำให้เกิดโครงการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน รถไฟฟ้า
นนทบุรียังถูกจัดเป็นเมืองขนาดใหญ่ จำแนกตามมาตรฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกณฑ์มาตรฐานผังเมืองรวม สำนักพัฒนามาตรฐาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ปี 2549 ซึ่งกำหนดแนวทางผังเมืองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา แก้ไขปัญหาของชุมชนและรองรับการขยายตัวของเมืองใน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านสุขอนามัยชุมชน ต้องวางผังเมืองให้สภาพแวดล้อมดี มีที่อยู่อาศัยที่สุขสบาย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 2) ด้านความสะดวกสบายจากบริการสาธารณะ กำหนดที่ตั้งของบริการสาธารณะต่าง ๆ ให้อยู่ในระยะทางที่มีความสะดวก 3) ด้านความมั่นคงทางการเงินและการคลัง กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสร้างกำไรให้เป็นผลตอบแทนต่อชุมชน 4) ด้านความปลอดภัย เช่น การกำหนดขนาดของถนนที่เพียงพอกับปริมาณการจราจร 5) ด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การออกข้อกำหนดควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศ 6) ด้านสวัสดิภาพทางสังคม เช่น จัดให้มีสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อน
ทีมข่าวลูกศิลป์ ตรวจสอบแผนที่ดาวเทียม Google Map เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี บริเวณรอบศูนย์ราชการนนทบุรีล้อมรอบไปด้วยหมู่บ้านจัดสรร มีถนนเส้นหลักที่ผ่านคือถนนรัตนาธิเบศร์
เมือเปรียบเทียบกับจังหวัดยะลา ซึ่งถูกยกให้เป็นเมืองที่มีผังสวยที่สุดของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้รับรางวัลเมืองเพื่อสันติภาพ (UNESCO Cities for Peace Prize) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) พบว่า ที่นั่นวางรูปแบบเมืองเป็นลักษณะวงกลม 3 ชั้นซ้อนกัน มีถนนหลักตัดเชื่อมต่อกัน จัดประเภทการใช้ที่ดินที่มีความคล้ายคลึง ประเภทเดียวกันในบริเวณเดียวกัน โดยวงด้านในสุดเป็นหน่วยงานราชการ วงถัดมาเป็นบ้านพักราชการและวงนอกสุดเป็นที่ตั้งของโรงเรียน โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัยของประชาชน
สอดรับกับเอกสารประกอบการสอน ปี 2560 วิชาภูมิศาสตร์เมือง สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ของ มรกต วรชัยรุ่งเรือง ระบุว่า ผังเมืองที่ดีจะมีลักษณะคล้ายทฤษฎีวงแหวน (Concentric Pattern) มีศูนย์กลางเมือง และค่อย ๆ ขยายตัวออกไป มีแนวถนนแบ่งพื้นที่ของเมืองออกเป็นส่วน ๆ และสามารถเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์ที่ดินทุกส่วนได้สะดวกรวดเร็วด้วยถนนรัศมี
แหล่งข่าวจากงานพัฒนาผังเมือง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ระบุว่า ผังเมืองนนทบุรี คล้ายรูปแบบขยายตัวในแนวยาว (Linear Pattern) จะทำให้ความเจริญเกาะอยู่ตามแนวถนนหลัก และมีเส้นทางย่อยตัดแยกเข้าไปตามซอย หากเมืองมีขนาดใหญ่ ย่อมมีแนวการขยายตัวเชิงเส้นที่ยาวขึ้น ทำให้การจราจรติดขัด
“ก่อนหน้าที่จะวางผังเมืองนนทบุรีไม่ได้มีการนำทฤษฎีหรือรูปแบบผังใดมาอ้างอิงเป็นหลักไว้ก่อน ทำให้ทุกอย่างในเมืองเติบโตไปอย่างไม่มีระบบ” แหล่งข่าว ยอมรับ
ขณะเดียวกัน เอกสารบรรยายสรุปจังหวัดนนทบุรี จัดทำโดยสำนักงานจังหวัดนนทบุรี เมื่อเดือนธันวาคม 2561 หน้า 33 ชี้ว่า ปริมาณจราจรสายหลักเชื่อมระหว่างนนทบุรี-กรุงเทพฯ โดยเฉพาะถนนงามวงศ์วาน ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรัตนาธิเบศร์ มีปริมาณหนาแน่นตลอดวันโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน อย่างถนนงามวงศ์วาน มีปริมาณรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขาเข้าและขาออก รวมกันเฉลี่ย 183,767 คันต่อวัน ถือว่า มากที่สุดของจังหวัด
รายงานฉบับเดียวกัน หน้า 39-40 ระบุ จุดเสี่ยงน้ำท่วมมี 16 จุด บนถนนสายหลักอย่างงามวงศ์วาน แจ้งวัฒนะ และติวานนท์
ฝนตกน้ำระบายช้า เหตุสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ
ศุภโชค ศิลป์วิลาศ ผู้ปกครองนักเรียน เดินทางมาส่งลูกสาวที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ นนทบุรี จากเขตสายไหม ระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาทีในวันปกติ และหากฝนตกจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ชั่วโมง
เช่นเดียวกับ พนธกร จอมเกาะ ผู้ใช้ถนนแจ้งวัฒนะมากว่า 10 ปี เล่าว่า เคยออกจากศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะตอน 16.00 น. เพื่อไปขึ้นทางพิเศษต่างระดับแจ้งวัฒนะ ใช้เวลา 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ ในระยะทางเพียง 3 กิโลเมตร และช่วงฝนตกใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง เนื่องจากมีน้ำท่วม ทำให้รถสัญจรได้ช้าลง
“ต้องเผื่อเวลาออกจากบ้าน อย่างตอนที่ต้องไปเรียนก็ตื่นตั้งแต่ 04.00 น. เผื่อเวลารถติด ถ้าวันไหนออกช้ากว่า 05.00 น. เตรียมเข้าแถวสายโดนหักคะแนน ยิ่งฝนตกต้องจัดตารางชีวิตใหม่ทั้งหมด แล้วถ้ามีน้ำท่วมอีกก็หนักเลย รถทุกคันต้องขับชะลอ เพราะกลัวน้ำเข้าเครื่อง ฤดูฝนปีไหนก็เห็นมันท่วมเหมือนเดิม”
ทีมข่าวตรวจสอบการระบายน้ำจากเอกสารโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.ปากเกร็ด – ศูนย์ราชการเเจ้งวัฒนะของกรมทางหลวงร่วมกับเทศบาลนครปากเกร็ดที่จะแล้วเสร็จในปี 2565 ระบุถึงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบนถนนแจ้งวัฒนะ ว่า มาจาก 2 ข้างทางที่มีระดับสูงกว่าถนน เมื่อฝนตกทำให้ไม่สามารถระบายลงสู่คลองสาธารณะได้ทัน ส่งผลให้ท่วมขังผิวจราจร และกระทบการจราจรทั้งโครงข่าย เกิดปัญหาการจราจรติดขัดสะสมหลายชั่วโมง
มีข้อมูลพื้นฐานจังหวัดนนทบุรีในเว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ระบุลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดนนทบุรี ว่า นนทบุรีขยายตัวในรูปแบบกระจายตามเส้นทางคมนาคมสายหลักที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ เนื่องจากการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย สถิติจำนวนบ้านจากการจดทะเบียนเป็นรายอำเภอ พ.ศ.2556-2562 อำเภอเมืองนนทบุรีมีบ้านเพิ่มขึ้นถึง 42,889 หลัง
ในทางกลับกัน รายงานสถิติจังหวัดนนทบุรี ระบุความยาวรวมของท่อและทางระบายน้ำในเขตเทศบาล ปี 2562 ความยาวเหลือ 40,692 เมตร ลดลงจากเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่มีความยาวรวม 53,757 เมตร
นอกจากบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ยังมีบริเวณถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรีที่ประสบปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ
จันทร์ (นามสมมติ) วัยเกษียณที่อาศัยอยู่ในซอยนนทบุรี 4 มากว่า 44 ปี กล่าวว่า ที่ดินเดิมเคยเป็นสวนทุเรียน หลังบ้านเป็นลำกระโดง ร่องสวนเก่าซึ่งเป็นทางน้ำไหลต่อลงคลองบางแพรกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันถูกถมที่จนเกือบหมด ทำให้ไม่มีทางน้ำไหล ฝนตกติดต่อกัน 3 วัน น้ำก็ท่วม เพราะน้ำในสวนไม่มีทางไป หากเต็มในลำกระโดงก็เอ่อล้นท่วมพื้นที่
ไม่ต่างจากผู้อาศัยคนอื่นในย่านเดียวกัน บอกกับทีมข่าวว่า ประสบปัญหาจากการถมที่ขวางทางน้ำ ทำให้บ้านของพวกเขาต้องเจอปัญหาน้ำท่วมช่วงฝนตกอยู่บ่อยครั้ง
แหล่งข่าวจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี ระบุกับทีมข่าวว่า โดยปกติจังหวัดนนทบุรี ตัวพื้นที่คล้ายเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว ในตอนแรกพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สีเขียว แต่หลังจากการเรียกร้องของคนในจังหวัดที่ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สีเขียวทำให้ต้องเปลี่ยนข้อกำหนดเป็นสีเหลืองเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย น้ำระบายลงมาสิ่งปลูกสร้างจึงขวางทางน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก
พื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ ร่างผังใหม่ยิ่งเบียดบัง
ทีมข่าวตรวจสอบต่อไปถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงของนนทบุรี พบว่า จากเกณฑ์ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนหรือมากกว่า
แต่สำหรับจังหวัดนนทบุรี จากสถิติข้อมูลพื้นที่สีเขียวเชิงปริมาณระดับจังหวัด โดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2560 พบว่า ที่นี่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อยที่สุด คือ 2.2 ตารางเมตรต่อคน หรือพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 2,723,901.25 ตารางเมตร ต่อประชากรทั้งสิ้น 1,229,735 คน
ขณะเดียวกัน แผนพัฒนาจังหวัดนนทบุรี 4 ปี พ.ศ.2561-2564 ระบุว่า พื้นที่เมืองโดยส่วนใหญ่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ มีผลดึงดูดให้ประชากรเพิ่มความหนาแน่นขึ้น มีการขยายตัวไปในพื้นที่โดยรอบพื้นที่เมืองในพื้นที่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนใหญ่
ศุภลักษณ์ ภูวะนสุขสุนทร ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ติวานนท์มา 20 ปี กล่าวว่า ย่านนี้ไม่มีสวนสาธารณะเพราะกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัย มีแค่สวนในหมู่บ้าน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ คุณภาพอากาศยังแย่ลงด้วย
มีงานวิจัยว่า พื้นที่สีเขียวมีไว้เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับคนในพื้นที่ได้มีโอกาสใช้พื้นที่สวนสาธารณะในการพักผ่อน จากเอกสารงานวิจัยในหัวข้อ Do park make people happier ? ของหน่วยงาน Psychological Science ตีพิมพ์และเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556 ระบุว่าคนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวจะมีระดับความสุขมากกว่าคนที่อยู่ห่างไกลหรือเข้าไม่ถึงพื้นที่สีเขียว เนื่องจากคนเหล่านั้นมีโอกาสที่จะหลีกหนีมลพิษในตัวเมืองได้ รวมถึงมีสถานที่ไว้ให้ออกกำลังกาย ผลวิจัยนี้ชี้ว่ารัฐควรสนับสนุนการก่อสร้างและบำรุงรักษาพื้นที่สีเขียว
แม้จังหวัดนนทบุรีจะมีนโยบายในการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2563 จะเพิ่มพื้นที่เขียวให้ทั่วจังหวัดนนทบุรี แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แต่ปรากฏว่า ข้อมูลที่กรมโยธาธิการได้ให้ไว้กับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ระบุว่า ร่างผังเมืองใหม่จะมีการปรับลดพื้นที่สีเขียวลงถึง 2 หมื่นไร่ หรือเกือบ 46 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่เดิม เพื่อนำมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย
ราคาที่ดินพุ่ง เกษตรกรทำสวนไม่คุ้ม แห่ขายที่
“เมื่อมีหมู่บ้านเข้ามา ชุมชนเข้ามา ถนนเข้ามา พื้นที่เกษตรก็เปลี่ยนแปลงไป น้ำที่จะใช้ทำเกษตรมันก็ต้องมีทางน้ำ พอสร้างหมู่บ้านมันก็จะสร้างคร่อมทางน้ำ เราก็แก้ไขไม่ได้เพราะติดหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีน้ำใช้ และน้ำก็เสีย”
พงษ์พัฒน์ สุขอาบใจ ลูกชายเกษตรกรที่เปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบสร้างรายได้มาเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานไว้กินไว้ใช้เองในครัวเรือน กล่าวถึงปัญหาของน้ำที่ใช้ในการเกษตรทำให้ผลผลิตลดลง
เขาบอกอีกว่า ทำเกษตรสมัยนี้ไม่คุ้ม สวนเกษตรในนนทบุรีที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่เปล่ารอการขาย ทำเกษตรอย่างเดียวเลี้ยงชีพไม่ได้ต้องทำอาชีพอื่น เกษตรกรเป็นอาชีพเสริม เพราะไม่คุ้มค่า พื้นที่มีมูลค่าสูงเกินกว่าจะทำเกษตร บางคนขายที่ดินเพื่อนำเงินไปลงทุนกับอย่างอื่น ความเจริญของตัวเมืองที่เข้ามาทำให้มีการตัดถนนเพิ่ม ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
ทีมข่าวตรวจสอบราคาที่ดินในปัจจุบันจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ทำเลที่ดินจังหวัดนนทบุรี มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 10 เท่า โดยในปี พ.ศ.2547 ที่ดินมีราคาเฉลี่ย 3,000-5,000 บาทต่อตารางวา และปีล่าสุด พ.ศ.2562 ที่ดินมีราคาเฉลี่ยถึง 50,000-70,000 บาทต่อตารางวา
ทั้งนี้ จากสถิติในเอกสารสำนักงานสถิติจังหวัดนนทบุรี พบว่า พื้นที่เกษตรในจังหวัดนนทบุรีลดลง 13,922 ไร่ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ผลผลิตทางการเกษตรยิ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด ข้าวเจ้าที่เคยมีผลผลิต 93,503.71 ตันต่อปี ในช่วง 6 ปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับข้อมูลล่าสุดที่มีในปี 2561 เหลือเพียง 69,164 ตันต่อปีเท่านั้น โดยเฉพาะทุเรียนที่ในอดีตเคยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด แต่ในตอนนี้ถูกจัดให้เป็นพืชอนุรักษ์แทน
นักวิชาการชี้ ผังเมืองต้องจัดสรรพื้นทีเหมาะสมเป็นธรรม
โสภณ พรโชคชัย นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า วิถีชีวิตและการอยู่อาศัยของคน จำเป็นต้องมีแผนและผังพัฒนาเมือง (Guide Development) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการที่จะสอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งผังเมืองจะมีหน้าที่จัดสรรพื้นที่แต่ละประเภทอย่างเหมาะสม ให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อตอบรับกับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต
โสภณ กล่าวอีกว่า นนทบุรีจำเป็นจะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่กรุงเทพฯ เป็นมหานคร (Megacity) หรือมหานคร และมีนนทบุรีเป็นเมืองนอน (Bed City) ของคนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะที่ดิน บ้าน มีราคาสูง จำเป็นต้องหาที่อยู่อาศัยในนนทบุรีแทน จึงควรมีการวางแผนให้สอดรับกัน แต่ปัจจุบันผังเมืองปริมณฑล ไม่ได้ทำให้สอดคล้องกัน ต่างคนต่างวางแผน
“ถ้าจะเป็นเมืองที่รองรับกรุงเทพฯ จริง ๆ อย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงต้องสนับสนุนและกำหนดรอบ ๆ บริเวณนั้นให้สร้างตึกสูง สร้างที่อยู่อาศัยได้ มีมาตรการกระตุ้นให้คนเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนั้น มีการสร้างรถไฟฟ้าไป แต่ผังเมืองก็ยังอยู่แบบเดิม ไม่ได้พัฒนาและส่งเสริมตาม จึงไม่สอดคล้องกัน” โสภณ กล่าว
ด้าน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในการจัดทำผังเมืองคือ ขาดความเป็นธรรมในการรับรู้และตัดสินใจร่วมกันของคนในพื้นที่ การออกแบบผังเมือง เป็นกลไกขั้นตอนที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวาง จากนั้นก็เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น แต่ประชาชนไม่มีความรู้เพียงพอที่จะเห็นความสำคัญว่าผังเมืองส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตของพวกเขา
“ผมอยากให้คนตระหนักว่าผังเมืองมันสำคัญกับทุกคน เราต้องการผังเมืองที่เป็นธรรมกว่านี้ มันอธิบายได้ว่า เราจะจัดสรรหาพื้นที่ให้คนจนที่เช่าที่ดินให้ถูกลงได้อย่างไร และมันช่วยให้เราคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันได้ไหม คือมันไม่ได้แยกจากกันระหว่างการเมืองกับผังเมือง คำถามสำคัญคือ ทุกคนได้มีโอกาสใช้พื้นที่เมืองเท่ากันหรือเปล่า ซึ่งอย่าไปติดกับผังการใช้ที่ดินอย่างเดียว แต่มันคือกฎกติกาที่จะอยู่ร่วมกันในเมือง” พิชญ์ กล่าว
ผอ.กองผังเมืองรับ ประชาชนเข้าไม่ถึงผังเมือง
บุษกร ปฐมอติชาต ผู้อำนวยการกองผังเมือง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ชี้แจงว่า ประชาชนยังขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบผังเมืองนนทบุรี เนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องผังเมือง และกระบวนการในระบบราชการที่มีความล่าช้า มีข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ ทำให้การทำงานไม่เป็นไปในรูปแบบเชิงรุก
“พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ ก็พยายามเสนอว่า ต้องมีหมวดหนึ่งที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางผัง และไม่ใช่แค่การวางผัง แต่ต้องมีคนเป็นกระบอกเสียงให้เรา เป็นตัวกลางให้เรา แต่นี่คือไม่มีเลย กลายเป็นคนจำนวนน้อยแต่เสียงดัง กับคนจำนวนเยอะ ๆ แต่เสียงเบา ซึ่งไม่ใช่ตามหลักการ เราต้องเอาคนที่เยอะ ๆ ที่เสียงดังกว่ามาใช้ คือต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็น ร้องเรียนในส่วนที่เป็นประโยชน์ของตนเอง ลำพังในการลงไปฟังเสียงประชาชนให้ครบทั่วทั้งหมดเราก็ไม่ไหว ไม่ได้มีมือไม้มาช่วย ถ้าเป็นผังเมืองระดับนโยบายที่สนับสนุนและระบุชัดเจนว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ทุกคน มันจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น”
โยธาธิการรับผังเมืองใหม่ล่าช้า เร่งพิจารณาประกาศใช้ปี 64
ชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวลูกศิลป์ผ่านทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ยอมรับว่า ผังเมืองฉบับใหม่ล่าช้าในการประกาศใช้ โดยในระหว่างนั้นกรมโยธาธิการได้มีการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของนนทบุรี 35 แห่งออกข้อบัญญัติท้องถิ่นที่มีเพื่อกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง และดัดแปลงในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อใช้แทนผังเมืองชั่วคราว ซึ่งผังฉบับใหม่นี้จะมีการประกาศใช้ภายในปี 2564 ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเมื่อเดือนตุลาคม และประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หากผ่านในเดือนหน้าจะนำเรื่องผังเมืองเข้าพิจารณาวาระ 2 ต่อไป
ชาญวิชญ์ กล่าวอีกว่า ผังเมืองนนทบุรีฉบับใหม่นี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการและบริการสวัสดิการให้กับคนในจังหวัด โดยวางแผนแก้ปัญหาด้านคมนาคมผ่านการวางโครงข่ายคมนาคมเผื่อระบายรถติด ส่วนเรื่องน้ำท่วมได้มีการกำหนดพื้นที่โล่งริมคลองเพื่อไม่ให้มีการก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดผ่านการดาวน์โซนจากพื้นที่สีเหลืองบางแห่ง
เรื่องเเละภาพ: พีรวุฒิ นารี ธัญกร อุดมฐิติพงศ์ เบญจวรรณ รุ่งศิริ สริตา เรืองจิต และขวัญพรทัศ ธนูสิงห์ นักเรียน Journalism คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร รุ่น 13
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2564 ในเพจลูกศิลป์