ฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัยเวียนกลับมาแล้ว กำลังจะเริ่มรอบแรก portfolio ปลายปีนี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มหาวิทยาลัยศิลปากร จัด open house ทางออนไลน์ เปิดบ้านต้อนรับน้อง ๆ ม.6 ตอบทุกข้อสงสัยว่า นิเทศศาสตร์ คืออะไร? แล้วนิเทศฯ ศิลปากร เขาเรียนอะไรกันบ้าง?
นักเรียนอาจจะเข้าใจว่า เรียนนิเทศฯ ไปเป็นเบื้องหน้าอย่างพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ หรือไปทำงานเบื้องหลัง เช่น คิดงานโฆษณา เขียนบทซีรีย์ ตัดต่อภาพยนตร์…นั่นก็ใช่ แต่ก็ใช่เพียงส่วนหนึ่ง
อาจกล่าวได้ว่า การเรียนนิเทศศาสตร์คือ การศึกษาหลักการสร้างเนื้อหาเพื่อตอบวัตถุประสงค์การสื่อสารใด ๆ ซึ่งในแต่ละงานมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ต้องพิจารณากระบวนการสื่อสารทั้งหมด
อ.ศาสวัต บุญศรี ตัวแทนคณาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ ในฐานะประธานหลักสูตร เริ่มเรื่องว่า นิเทศศาสตร์ของที่นี่ หลักสูตร 2565 แบ่งเป็น 3 เอกคือ
1) เอกวารสารศาสตร์บูรณาการและสื่อทัศน์ (Journalism Integration and Visual Media)
2) เอกภาพยนตร์ (Film)
3) เอกการสื่อสารเชิงธุรกิจ (Business Communication)
เขาอธิบายต่อว่า สำหรับเอกวารสารศาสตร์บูรณาการและสื่อทัศน์ ขาที่เป็น “วารสารศาสตร์บูรณาการ” คือ การสร้างคอนเทนต์ที่มีข้อมูลมาจากข้อเท็จจริง เกิดขึ้นจริง ๆ และมี impact กับประชาชนและเล่าออกไปในรูปแบบ factual story เช่น ข่าว บทความ สกู๊ป ที่เราอ่าน ที่เราดู เราฟัง บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ สื่อทีวี สื่อเสียงสมัยใหม่อย่าง podcast หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือในอนาคตถ้ามีเทคโนโลยีสื่อแบบใหม่ ๆ ออกมาอีก
“เวลาเรียนวารสารศาสตร์ฯ อาจจะเข้าใจว่า เรียนข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งไม่ใช่ แต่มันคือ คอนเทนต์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ และมีผลกระทบต่อชีวิตผู้คน เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ก็ใช่ เรื่อง อาหารการกิน การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ก็ใช่ เล่าออกมาทั้ง text sound และ visual”
“เพราะฉะนั้น อาจจะมีทั้ง breaking news ที่แจ้งเตือนทางโซเชียลมีเดีย การ live ณ สถานที่เกิดเหตุจริง ๆ หรือ story เชิงลึก-สืบสวนสวนเจาะประเด็นปัญหาที่กระทบกับชีวิตผู้คน เป็นซีรีส์ชิ้นยาว ๆ ที่เชื่อมโยงด้วยหลากหลายแพลตฟอร์ม มีพวก วิดีโอ graphic infographic หรือ motion graphic มาช่วยอธิบายประเด็นนั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น หรืออย่างรายการสนทนา/เล่าเรื่องสาระความรู้ทาง podcast เป็นต้น
ส่วนอีกขาหนึ่งคือ “สื่อทัศน์” อ.ศาสวัต บอกว่า เป็นเรื่องการผลิตคอนเทนต์ที่น้ำหนักของมันอาจจะไปทางตัวละคร ฉาก การกระทำที่จินตนาการขึ้น หรืออาจจะมาจากข้อเท็จจริง แต่ก็เล่าออกไปในรูปแบบ fiction story
“เพราะฉะนั้นมันมีทั้งพวก entertainment อย่างซีรีส์ รายการทางทีวี มิวสิควิดีโอ หรือการนำประเด็นสังคมมาสื่อในรูปแบบ fiction ซึ่งชื่อสื่อทัศน์ หรือ visual media ก็หมายความว่า จะเน้นนำเสนอด้วยภาพ”
สำหรับเอกถัดมาคือ เอกภาพยนตร์ อ.ศาสวัต ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำเอกนี้ด้วย เล่าว่า เอกนี้เน้นการเรียนกระบวนการของการผลิตภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นจนจบ คือ เริ่มตั้งแต่การคิดพล็อตหนังไปจนถึงการฉาย ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีทั้งการ research ความคิด การพัฒนาบท การถ่ายทำ และกระบวนการหลังการถ่ายทำ รวมความแล้วคือ การวางแผนและจัดการการผลิตและเผยแพร่ทั้งกระบวนการ
“บางเนื้องานของเอกภาพยนตร์ และเอกวารสารศาสตร์บูรณาการและสื่อทัศน์ มีความคล้ายกันอยู่บ้างในส่วน production โดยต้องมีการบันทึกภาพเพื่อสื่อสาร ลำดับภาพเล่าเรื่อง ซึ่งงานด้าน visual ในงานนิเทศศาสตร์จะเน้นไปที่การสื่อสารประเด็นหรือแง่มุมบางอย่าง เพราะภาพเพียงรูปเดียวก็สามารถเล่าเรื่องหรือแสดงสัญญะต่าง ๆ ได้ดีไม่แพ้กับงานเขียนหรือคำพูด” อ.ศาสวัต เปรียบเทียบ
ส่วนของงานเบื้องหลัง อ.ศาสวัต บอกว่า เราอาจได้ยินอาชีพ “ผู้กำกับ” หรือ “โปรดิวเซอร์” ที่จะควบคุมการผลิตและทิศทางเนื้อหาของตัวงาน แต่ความจริงแล้วผู้กำกับจะไม่สามารถทำงานได้เลยหากขาดผู้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่มีหน้าที่รันกองถ่ายทำ ดีลงาน ทีมพร็อพ ทีมงานทำฉาก ทีมเสียง รวมถึง art director ที่จะเซ็ตงานศิลป์ หรือ ผู้จัดจำหน่ายที่จะนำงานไปเผยแพร่
เขาบอกอีกว่า หรือจะย้อนไปตั้งแต่การมีวัตถุดิบเพื่อมาปรุง อย่างทีมเขียนบท ที่อาจจะแบ่งไปตามประเภท เช่น ซีรีส์ ละครทีวี รายการทีวี หรือภาพยนตร์ ก็แตกต่างกัน และธรรมชาติของแต่ละสื่อนั้นไม่เหมือนกัน อย่างซีรีส์คนเขียนบทต้องทำให้ในช่วงใกล้จบตอนน่าสนใจและคนดูอยากติดตามต่อ หรือภาพยนตร์ที่ต้องทำเรื่องให้น่าติดตามตลอดภายในข้อจำกัดของเวลาซึ่งขึ้นอยู่กับความยาวของหนังนั้น ๆ รวม ๆ แล้ว production ทีมหนึ่งมีกันร่วม 50 ชีวิตในกระบวนการผลิตของงานนิเทศศาสตร์
เอกสุดท้าย คือเอกสื่อสารธุรกิจ อ.ศาสวัต เล่าว่า จะเรียนเกี่ยวกับกระบวนการสื่อสารเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ และการสื่อสารกับผู้บริโภค ตั้งแต่กระบวนการวิเคราะห์โจทย์กำหนดกลยุทธ์ ไปจนถึงสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและเป็นหน้าที่สำคัญของนักนิเทศศาสตร์คือการสร้างกลยุทธ์การสื่อสาร และการสื่อสารเพื่อรักษาลูกค้า
โดยรวมทั้งหมด อ.ศาสวัต ทิ้งท้ายว่า เราอาจจะเห็นงานนิเทศศาสตร์เมื่อผลงานปรากฏออกมาอยู่ตรงหน้า เช่น ข่าวการชุมนุมที่รายงานในทีวี บทความเรื่องการกดทับความเสมอภาคเรื่องเพศที่เราอ่านบนหน้าจอมือถือ เรื่องบันเทิงในโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงโฆษณา หรือหนังในโรงภาพยนตร์ จึงอาจจะคิดว่า นิเทศฯ มันน่าสนใจ มีสีสันสนุก สร้างชื่อเสียง
“แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเดียว เพราะมีกระบวนการเบื้องหลังอีกเยอะ ตั้งแต่กระบวนการของกองบรรณาธิการที่กำหนดทิศทางของประเด็นว่าวันนี้มีเรื่องสำคัญอะไรบ้างกับผู้คน จะคิดกับมันให้แตกต่างลุ่มลึกได้อย่างไร เราจะเล่ามันออกมาในรูปแบบไหน ไปจนถึงตัวของ Journalist หรือ content creator ที่ออกภาคสนาม หรือกระบวนการของกองถ่ายทำโฆษณา ภาพยนตร์ ซีรีส์”
“ซึ่งกว่าจะไปถึงตรงนั้นมันต้องผ่านการ research ต้องคิดเยอะ อ่านเยอะ นิเทศฯ ทั้ง 3 เอก ต้องใช้ทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นแว่น ต้องรวบรวมข้อมูลจากหลากวิธี ทั้งสัมภาษณ์ ค้นคว้าเปเปอร์วิชาการ ลงพื้นที่สังเกตการณ์ เพื่อสร้างคอนเทนต์ออกมาให้เป็น original ของเราเองโดยที่ไม่ได้ก็อปของใครเขามา เราจึงต้องเรียนหลักการที่เป็นฐานการคิด การเล่า การผลิต การเผยแพร่ทั้งหมด” ประธานหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ของไอซีที ศิลปากร ปิดท้าย
ส่วน พิสิทธิ์ รตนวัณณ์ หรือ พี่เต้ ศิษย์เก่า ไอซีที นิเทศศาสตร์ เอกการโฆษณา รุ่น 3 ปัจจุบันจบปริญญาโทด้านการตลาด (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แล้ว และเป็นอาจารย์พิเศษวิชาพฤติกรรมผู้บริโภค และวิชาการตลาดดิจิทัลที่คณะเรา อธิบายเพิ่มเติมถึงเอกสื่อสารเชิงธุรกิจ ว่า แบ่งเป็น 2 ขา คือ การโฆษณา (Advertising) และการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM)
เขาบอกว่า 2 สาขานี้หากอ่านชื่ออาจจะดูเป็นการตลาดมากกว่านิเทศศาสตร์ แต่เมื่อมาดูเนื้องานจะพบว่ามันก็ยังคงเป็นเรื่องของการสื่อสารอยู่ เป็นการสื่อสารให้คนรู้สึกและคล้อยตาม เพราะนักสื่อสารการตลาดและธุรกิจจะสื่อสารเพื่อมุ่งหวังพฤติกรรมบางอย่าง
“ความแตกต่างของนักการตลาดที่จบสายตรง กับนักสื่อสารการตลาดของนิเทศศาสตร์จะอยู่ที่เนื้องาน นักการตลาดจะคิดว่าเขาจะขายใคร ขายอะไร และจะได้กำไรอย่างไร แต่นักสื่อสารการตลาดไม่ได้มีหน้าที่ไปยุ่งเกี่ยวหรือปรับปรุงสินค้าที่นักการตลาดคิดไว้ แต่ต้องคิดว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรให้สินค้าเหล่านี้ขายได้ และสร้างความประทับใจให้กับผู้ซื้อ หาจุดเด่นของสินค้าเพื่อมาสร้างกลยุทธ์ในการสื่อสาร ที่จะตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ตรงจุด”
พี่เต้ อธิบายต่อว่า ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ องค์ความรู้หรือคำนิยามของคำว่านิเทศศาสตร์มักถูกตีกรอบหรือมองแค่งานที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ แต่ความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่าตัวเนื้องานของนิเทศศาสตร์นั้นมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก
“อย่างไรก็ตามพันธกิจของนักสื่อสารไม่ว่าจะเป็นในสาขาไหน คือการสื่อสารออกไปให้มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และให้เกียรติกับผู้ฟัง และรับผิดชอบกับการสื่อสารของเรา นักนิเทศศาสตร์ถือเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมให้ไปในทิศทางต่าง ๆ เพราะการเรียนนิเทศศาสตร์เป็นการเรียนเพื่อสร้างนักการสื่อสารที่มีคุณภาพ เนื่องจากการสื่อสารมีทฤษฎี มีหลักการของมัน แน่นอนว่าทุกคนสามารถสื่อสารได้ แต่การเรียนนิเทศศาสตร์จะทำให้การสื่อสารของเราเป็นไปอย่างมีคุณภาพ” พี่เต้ ย้ำปิดท้าย
เรื่องและภาพโดย ธัญกร อุดมฐิติพงศ์ Journalism ไอซีที นิเทศศาสตร์ ศิลปากร รุ่น 13
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2564