10 ปี เหตุการณ์ ‘เมษายน-พฤษภาคม 2553’ ปีนี้ เป็นปีที่ฉันกำลังเข้าสู่วัยทำงานออกไปเป็น Journalist
ถ้าจะย้อนกลับไปในเหตุการณ์ ‘สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง’ วันนั้นฉันยังเป็นเด็ก 12 ขวบ เรื่องนี้แทบจะเป็นความทรงจำสีจาง ๆ ในวัยเด็ก
ขณะนั้น ฉันน่าจะกำลังเรียนมัธยมต้น ใช้ชีวิตเหมือนเด็กชนชั้นกลางทั่วไป วันๆ ก็เอาแต่เรียนตามหนังสือและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนกำหนดไว้ให้
วิถีอื่นนอกเหนือจากวันธรรมดา ๆ แบบนั้นก็หมดไปกับการนั่งทำการบ้าน เหลือเวลาเล็กๆ น้อยๆ ก็ใช้ไปกับการเที่ยวเล่น
จึงเห็นเหตุการณ์บ้านเมืองเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ผ่านตาจากภาพเคลื่อนไหวและเสียงบนจอแบน ๆ ของโทรทัศน์ ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขณะกินข้าวเช้าก่อนไปโรงเรียน ช่วงบ่ายของวันหยุดที่นอนอ่านหนังสือ หรือ ตอนโพล้เพล้ที่เดินผ่านกลางบ้านเพื่อหาขนมรับประทานในครัว เท่านั้น
ภาพที่แจ่มชัดที่สุดในตอนนั้น สื่อทั้งหลายบอกฉันว่า เกิดการประท้วงขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ โดยมีกลุ่มคนต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยรู้หนังสือเดินทางเข้ามาในเมือง และทุกคนในที่นั้นใส่เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์
ฉันในวันนั้นไม่เข้าใจว่า พวกเขามีจุดประสงค์อะไรที่ทำแบบนี้
‘ฝูงชนคนเสื้อสีแดงเต็มถนนไปหมด กลุ่มหนึ่งร้องตะโกนโหวกเหวกโวยวายเสียงดัง อีกกลุ่มหนึ่งถือไม้หน้าสามจะทุบรถ กลุ่มหนึ่งเตรียมจะเผาสิ่งของรอบ ๆ ตัว’
นี่เป็นสิ่งที่สื่อรายงานออกมาทุกวัน โดยให้ความหมายกับเหตุการณ์นี้ว่า การชุมนุมของประชาชนกลุ่มนี้เป็นความวุ่นวาย พวกเขาเป็นคนไม่มีเหตุผล เป็นกลุ่มคนร้ายกาจ น่ากลัวและใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ผลลัพธ์จากการได้ดูข่าวบ่อย ๆ เด็กน้อยเช่นฉันจึงภาวนาให้มันจบลงเสียที
ก่อนสงกรานต์ปีนั้น ไปจนถึง 19 พฤษภาคม มีการสลายการชุมนุมใหญ่ ๆ ที่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ ฉันจำได้แค่ว่า มีการปะทะกันเกิดขึ้น สื่อหลักรายงานข่าวว่า มีคนเจ็บ คนตาย
ไม่นานทุกอย่างก็จบลงไปแบบเงียบ ๆ ภาพที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อเหลือทิ้งไว้เพียงเศษซากของตึกอาคารที่ถูกเผา
เหตุการณ์ถูกทำให้ดูเหมือนกับว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของการปราบปราม
สื่อหลักเจ้าใหญ่ ๆ ไม่ได้นำเสนอประเด็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ การใช้กระสุนจริง จำนวนกระสุนที่เบิกมา ผู้เสียชีวิตอยู่ในสภาพมือเปล่า
ซ้ำร้าย 2-3 วัน หลังจากนั้น ยังประโคมข่าวการร่วมด้วยช่วยกันของคนทั่วกรุงเทพฯ ล้างเมืองให้สะอาดเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการและเปิดใช้งานของสถานที่และถนนสายต่าง ๆ
ฉันจำชื่อกิจกรรมดังกล่าวได้ว่า Bangkok Big Cleaning Day (ทำความสะอาดกรุงเทพฯ) บนจอโทรทัศน์เกือบทุกช่อง
ตอนนั้นมันยิ่งตอกย้ำให้ฉันรู้สึกว่า ในที่สุดประเทศจะกลับมาสงบเหมือนเดิม และความปลอดภัยกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
หลังจบเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2553 ฉันบันทึกความทรงจำสีจาง ๆ ที่เกิดขึ้นฝังลงหัวโดยไม่เคยนึกตั้งคำถามในความมืดบอดที่ถูกทำให้เชื่อแบบนั้น…
‘มองต้นไม้ให้เห็นป่า’ ยามที่สื่อต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงรับใช้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค
เวลาล่วงเลย ปีแล้วปีเล่า ฉันโตขึ้น ความรู้ ความจริง ชุดอื่นสอดแทรกเข้ามาในชีวิต
ยิ่งการเลือกเรียนด้านวารสารศาสตร์ของฉันด้วย ทำให้ต้องวิ่งออกไปค้นคว้า ต้องอ่านต้องดูต้องฟังมากขึ้น ทั้งจากสื่อหลัก สื่อรอง
บรรดาหนังสือ บทความ ที่จับมาไขว้ชนกัน ระหว่างความรู้ชุดหลัก กับความรู้ชุดท้าทาย ที่ฉันได้รับมอบหมายให้อ่าน โดยเฉพาะในช่วงเรียนปี 2 (แทบจะเป็นช่วงที่อ่านหนังสือมากที่สุดในชีวิต) มันเริ่มสร้างความสงสัย
ฉันเริ่มขุดคุ้ยหาเองบนออนไลน์
อย่างน้อยบทความของอาจารย์ชื่อดัง ในสื่อหลักและสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ในแต่ละสัปดาห์
หรือการได้โอกาสเข้าไปฝึกอบรมหลักสูตรถอดรื้อมายาคติของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)
มันทำให้ฉันเห็นข้อเท็จจริงชุดต่าง ๆ ถูกขยำผ่านแว่นตาแบบต่าง ๆ จนออกมาเป็นเรื่องเล่าหลากหลายแบบบนหลักการที่แตกต่างกัน
เมื่ออ่านและชั่งน้ำหนัก ข้อเท็จจริง ตรรกะ เหตุผล และหลักการทางวารสารศาสตร์ที่ต้องเป็นผู้รับใช้ในด้านจัดหาข้อมูลข่าวสารเพื่อสิทธิเสรีภาพและการปกครองตนเองของพลเมืองแล้ว
ฉันขอยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่า มันเป็นเรื่องยากพอสมควรสำหรับฉัน
เพราะความรู้สึกที่มักจะเจ็บปวดอยู่เสมอเมื่อสิ่งที่ได้รู้เพิ่มมานั้น กระทุ้งความเชื่อที่สะสมมานานนับหลายปีให้สลายไปต่อหน้าต่อตา
เจ็บปวดที่เราเคยมืดบอด
เจ็บปวดเพราะมีผู้คนธรรมดาแบบเรา ๆ ต้องทุกข์ทรมานกับความสูญเสียแต่กลับไม่ได้รับความยุติธรรม
ดังเช่นเมษา-พฤษภาปี 53
นึกย้อนไปตอนเป็นเด็ก ฉันเฝ้ามองเหตุการณ์นี้ผ่านสื่อหลักเพียงอย่างเดียวซึ่งข่าวส่วนใหญ่จึงค่อนข้าง “แบน”
มันถูกเล่าออกมาว่า คนเสื้อแดงเป็นคนกระทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่รุนแรง
จากการที่ฉันศึกษาสื่อมาตลอด 4 ปี ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ฉันได้พบว่า การนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนที่เป็นสื่อหลักส่วนใหญ่ยังสนใจเสนอข่าวระดับปรากฏการณ์เท่านั้น
อะไรที่หวือหวาน่าตื่นเต้น รุนแรง เร้าอารมณ์ หรือเรียกว่า ‘สำเร็จรูป’ สอดคล้องกับความเชื่อของคนดูที่เป็นลูกค้าหลัก จึงถูกคัดเลือกมาชู
แต่อะไรที่ต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน ไม่สอดคล้องกับความเชื่อหลัก (ซึ่งไม่รู้ว่าจะยืนอยู่บนหลักการวารสารศาสตร์ในบริบทเสรีประชาธิปไตยหรือไม่) ก็ไม่ค่อยถูกนำเสนอ
แง่หนึ่งฉันเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของปัจจัยภายใน-นอก อย่างเช่นทุน ด้วยสื่อเป็นธุรกิจ ‘การออกไปทำข่าวเชิงลึก’ ต้องใช้เวลานานสำหรับการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
แต่ที่สำคัญคือ การถูกครอบงำด้วยความรู้ ความจริงกระแสหลักที่สร้างโดยรัฐ
ฉันเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Spotlight หรือ คนคลั่งข่าว ซึ่งสร้างจากเรื่องจริง สามารถทำให้เห็นภาพกระบวนการทำข่าวสืบสวนของบรรณาธิการและนักข่าวได้ ซึ่งมันยากและมีอุปสรรคมากมาย
แต่เมื่อข่าวที่พวกเขาเจาะ ได้ตีพิมพ์ สังคมเกิดแรงกระเพื่อมและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
หรือภาพยนตร์สร้างจากเรื่องจริงเรื่อง The Post ที่ตีแผ่ เอกสารลับเพนตากอน จะอธิบายเงื่อนไขต่าง ๆ ว่าทำไมถึงสื่อถึงต้องทำหรือไม่ทำข่าวเช่นนั้น พร้อมกับการถูกผู้มีอำนาจเล่นงานทั้งทางตรงและทางอ้อม
แต่ท้ายที่สุดสื่อก็ยังเป็นฟันเฟืองของการทำความความจริงด้วยการยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก
เพราะเสรีภาพของประชาชนเป็นที่มาของเสรีภาพสื่อ (ฉันชอบคำนี้มากกว่าคำที่กลับกัน เพราะมันแสดงถึงพันธกิจสื่อที่ยึดโยงกับประชาชน ถ้าสื่อทำงานโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาหลังพิงประชาชน ประชาชนก็จะคุ้มครองเสรีภาพของสื่อเอง)
โดยที่สถาบันการเมืองสำคัญ ๆ จะช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน ด้วยการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจฝ่ายอื่น ตามที่ระบอบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยออกแบบไว้
แต่เมื่อหันมามองสื่อไทย กับการเสนอข่าวในครั้งนั้น ก็ไม่ได้เจาะลึกไปถึงเหตุผลของการชุมนุม
ไม่ได้ขุดคุ้ยว่า เรากำลังอยู่ในระบอบการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และมีความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ในการตั้งรัฐบาล จึงทำให้ผู้คนออกมาชุมนุม
ที่สำคัญการชุมนุมนั้นก็เป็นข้อเรียกร้องพื้น ๆ ในระบอบ แต่การชุมนุมทั้งหมดก็ถูกทำให้เป็นภาพความน่ากลัวไป
เมื่อเป็นเช่นนั้น ข่าวที่ออกมาจึงมีลักษณะในเซ้นส์ของเกมการเมือง ชิงไหวชิงพริบ ต่อสู้เพื่อแย่งอำนาจ ความเคลื่อนไหวรายวันแบบ ปิงปองโต้กันไปมา ที่ไม่เจาะให้เห็นความผิดปกติของระบอบการเมืองไทย
ขณะที่ ฉันถูกสอนมาเสมอว่า ‘จะออกไปเป็นสื่อต้องมองต้นไม้ให้เห็นป่า’
ตัดภาพกลับที่สื่อหลักในตอนนั้น ฉันมองว่าไม่ค่อยทำการสืบสวนในเชิงข่าวเดือนเมษา-พฤษภาปี 53 และไม่มีการทำให้เห็นภาพของความสลับซับซ้อนเบื้องหลังของเหตุการณ์
ฉะนั้นแก่นเรื่องของเหตุการณ์จึงกลายเป็นการต่อสู้ของสองฝ่าย ส่วนใครจะเป็นพระเอก ขึ้นอยู่ว่ามีโอกาสพูดถึงหลังเหตุการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญผู้ชนะย่อมมีโอกาสมากกว่า
แน่นอนว่าครั้งนี้คนเสื้อแดงเป็นฝ่ายแพ้ ณ ตอนนั้นเขาจึงกลายเป็นผู้ร้ายที่เสียงดังที่สุด ทว่าเป็นผู้ถูกกระทำที่แทบไม่ได้ยิน…
สื่อกับวาทกรรมตกค้าง ‘ผู้ก่อการร้าย’ และ ‘เผาบ้านเผาเมือง’
เหตุการณ์ เมษา-พฤษภาปี 53 ผ่านมาหลายปี เมื่อฉันได้ค้นคว้า ชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงและหลักการ ฉันตาสว่างแบบที่เรียกว่าเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ
อย่างน้อย ๆ มี 2 ประเด็นหลัก ที่เคยมืดบอด คือ 1) ข้อกล่าวหาที่ว่า เสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว รัฐเป็นผู้นิยาม และมีส่วนต่าง ๆ เข้ามาปฏิบัติการให้กลายเป็นความจริงหลัก
และสื่อเองก็เป็นผู้ปฏิบัติการด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกภาพ ที่เป็นไปในทางการเผชิญหน้า การพาดหัวข่าว คำที่ใช้ซึ่งใช้ชุดคำจากฝั่งรัฐ หลังจากที่รัฐบาลขณะนั้นเรียกปฏิบัติการนั้นว่า “ขอคืนพื้นที่”
เป็นการใช้คำได้สุภาพมากแต่ในทางกลับกันทหารมีอาวุธครบมือ!
10 เมษายน ขณะรัฐส่งทหารเข้าไปจัดการ จนเริ่มพลบค่ำ เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อจู่ๆ ก็ปรากฏชายชุดดำกราดยิงและปาระเบิดเข้าใส่ทหาร ทำให้มีทหารตาย 5 ราย รุ่งเช้าสื่อมวลชนพากันพาดหัวข่าวตามข้อกล่าวหาของรัฐบาลว่า คนเสื้อแดงคือผู้ก่อการร้าย คนเสื้อแดงฆ่ากันเองแล้วโยนความผิดให้รัฐบาล คนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ
ฉันสงสัยมากว่า พาดหัวแบบนี้ สื่อมวลชนรู้แล้วหรือว่าใครเป็นคนกระทำ
หรือเพียงแค่ฝ่ายรัฐบาลถูกโจมตีก็ส่งมอบความผิดไปให้ฝ่ายตรงข้ามทำนองนี้ได้เลย?
แน่นอนว่าพอสร้างความจริงผ่านสื่อออกไป มันแพร่กระจายไปในวงใหญ่
นับจากนั้นข้อหาผู้ก่อการร้ายถูกใช้อย่างกว้างขวาง และนำไปสู่ข้ออ้างที่จะปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงวันที่ 14-19 พฤษภาคม ผลคือมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มอีก 72 คน (รวม 84 คน) บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตอีก 5 ราย (รวมเป็น 10 ราย)
แต่ผ่านมาหลายปี ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เมื่อผ่านการสอบสวนโดยศาล ศาลชี้ว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำยิงอยู่ภายในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด กรณีสำคัญ 6 ศพวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม
และศาลวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คน เป็นผลจากการกระทำของทหาร (ข่าว ‘เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม 6 ศพ วัดปทุมเสียชีวิตจากทหาร’ จากเว็บไซด์ข่าวประชาไท เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 https://prachatai.com/journal/2013/08/48057)
ฉันว่าต้องมานั่งคิดแล้วว่าเหล่าสื่อมวลชนทั้งหลายสร้างความจริงออกมาเป็นข่าวเช่นนั้นได้อย่างไร? ซึ่งเป็นภาพที่ติดตาฉันมาก ๆ ในตอนเด็ก ซึ่งถูกทำให้มองว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายและการปราบปรามเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว
สิ่งที่ฉันอยากจะพูดถึงประเด็นนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน จากบทความที่ฉันนำมาใช้ค่อนข้างบ่อยสำหรับการมองเรื่องต่าง ๆ ‘การเมืองคืออะไร?’ แปลโดย สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ ‘ประชาธิปไตยของฉัน ของท่านและของเธอ ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ’
ทำให้เห็นถึงปรากฏการณ์เรื่องนี้ว่า คนเสื้อแดงเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับทุกคนในประเทศนั่นแหละ
เขาต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง (แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ปฏิเสธที่จะทำตาม) ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นฝ่ายรัฐบาลได้ เนื่องจากมีกองทัพหนุนหลัง ดังนั้นเขาเพียงแค่ต้องการไล่คนที่ไม่ได้มาจากพวกเขาออกไปแล้วมาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่านี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย มันทำได้และไม่ควรจบด้วยความรุนแรงเช่นนี้
ประเด็นที่ว่ามาสื่อที่ฉันเห็นก็ไม่ค่อยพูดถึง อาจจะเห็นบ้างตามสื่อทางเลือก เช่น ประชาไท แต่ทว่าอย่างที่รู้กันโดนสื่อหลักกลบหมด
2) เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง ฉันคิดว่าน่าเป็นประโยคฝังหัวของใครหลาย ๆ คน
แม้กระทั่งตอนนี้ก็ยังมีคนอ้างข้อกล่าวหานี้อยู่เรื่อย ๆ คาดว่าน่าจะเห็นภาพตึกเซ็นทรัลเวิร์ลซึ่งเป็นที่รู้จักถูกเผาซ้ำ ๆ กรอภาพเคลื่อนไหวแบบวน ๆ แม้ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องข้อหาวางเพลิงกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงไปแล้วก็ตาม มีพยานบอกว่า ตลอด 2 เดือน เขาประสานงานกับผู้ชุมนุมอย่างดีแทบจะรู้จักกัน แต่วันเผาไม่ยักเจอหน้าคนพวกนี้เลย แต่เจอกลุ่มอื่นแทนที่ไม่รู้จัก (ข่าว ‘ที่ปรึกษาอัคคีภัยเซ็นทรัลฯ ยันจำเลยคดีเผา CTW ไม่สามารถวางเพลิงได้’ จากประชาไท เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556)
และเมื่อแกนนำ นปช. ประกาศสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่ของห้างและบริเวณรอบเซ็นทรัลเวิลด์ไว้ แต่ตั้งแต่เย็นไม่มีใครเคลียร์พื้นที่ให้ ปล่อยให้มันไหม้ได้อย่างนั้น
ความจริงส่วนนี้ทำให้ฉันอยากกลับไปนั่งดูจอโทรทัศน์หนา ๆ ที่บ้านอีกครั้ง เพ่งพินิจจนกว่าฉันจะตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ในวันนั้นได้
….ในวาระครบ 10 ปี เหตุการณ์เมษา-พฤษภาปี 53 ปีนี้ ฉันนั่งมองอยู่หน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก ฟีดบทความ วิดีโอสัมภาษณ์ ข่าวเด้งขึ้นมาติด ๆ กัน
เรื่องเล่าในวันนั้นเปลี่ยนไป ไม่เหมือนยามที่ฉันเป็นเด็ก
ฉันได้ชมวิดีโอจาก The Matter สัมภาษณ์พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของลูกที่เสียชีวิตเพราะตั้งใจเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในฐานะอาสาพยาบาล
‘ตั้งแต่วันนั้นที่รู้ว่าลูกตายไม่ใช่กระสุนสองนัด มันเป็นวันที่ฉันเปิดเกม จากผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีอะไรเลย ไม่รู้อะไรเลย กลายว่าต้องไปสู้ทุกอย่าง’
และท้ายคลิปบอกว่า จนถึงทุกวันนี้ความยุติธรรมก็ยังไม่มาถึง ไม่มีทหารขึ้นศาลแม้แต่คนเดียว
มันยิ่งตอกย้ำความจริงที่ว่า เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 คือ ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่รัฐไทยกล้าทำกับประชาชนอย่างโหดร้าย และผู้กระทำความผิดได้รับการยกเว้นการลงโทษตลอดมา
งานเขียนชิ้นนี้ของฉันไม่ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดของเหตุการณ์เดือนเมษา-พฤษภา 53 เป็นเพียงบางประเด็นที่หยิบยกออกมา
เพื่ออย่างน้อยที่สุดให้มันจะคอยเตือนใจฉันเองว่า เคยเกิดความรุนแรงเช่นนี้กับประชาชนไทย และสื่อเป็นคนร่วมสร้างความจริงของสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง…
ผู้เขียน: รชา เหลืองบริสุทธิ์ บัณฑิตจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ปัจจุบัน Digital Journalist กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก 14 กรกฎาคม 2563