ว่ากันว่า เด็กคืออนาคตของชาติ เพราะเด็กฉลาด ชาติ (จะ) เจริญ แต่ความเจริญที่ว่าจะไปในทิศทางไหน ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมที่หล่อหลอมความคิดความอ่านของเด็กขึ้นมา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากแต่มีกระบวนการสร้างความจริงในสิ่งที่เรียกว่า “เด็กดี” ขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นการผลิตความรู้ ความจริง ว่า “เด็กดี” คืออะไร ผ่านคำสอน ตำรา ครู นโยบาย กฎหมาย หรือแม่แต่รัฐธรรมนูญ และปฏิบัติการจริงทางอำนาจด้วยสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความจริง ดังกล่าว
คนดีมีวินัยภูมิใจในชาติ
เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย (ฤชุพันธ์) 16,820,402 คน คิดเป็นร้อยละ 61.35 จาก ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ทั้งหมดให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในเร็ววัน
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความจริงว่าด้วยเด็กดี คือ สิทธิการศึกษาที่กำหนดไว้ใน หมวด 5 มาตรา 54 วรรคห้า บัญญัติว่า การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ “ให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย และภูมิใจในชาติ” ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติว่า การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง
การเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครอง และส่งเสริมจากรัฐ
และนี่ทำให้ชีวิตของเด็กหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกตีกรอบ “เนื้อหา” การศึกษาสำหรับเด็กอย่างที่ไม่ค่อยปรากฏมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่า เด็กดีในอุดมคติของรัฐเป็นอย่างไร
เด็กเอ๋ยเด็กดีถึงค่านิยม 12 ประการนิยามเด็กดีในแบบของรัฐ
“หนึ่งนับถือศาสนา สองรักษาธรรมเนียมมั่น สามเชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ …” ส่วนหนึ่งของเพลงหน้าที่เด็ก เขียนโดยนักเขียนนวนิยาย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม ต่อมาเพลงนี้ถูกนำไปใช้ในวันเด็กแห่งชาติ
“เด็ก” ยังถูกนิยามผ่านคำขวัญประจำวันเด็ก เป็นกรอบว่า อย่างน้อย ๆ เด็กที่ดีควรจะเป็นอย่างไร
กระทั่งในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า ค่านิยม 12 ประการให้นักเรียนท่องจำและนำไปปฏิบัติ เนื้อหา ก็ไม่ทิ้งกับวาทกรรมที่กล่าวมาข้างต้น
ภาคปฏิบัติการจริงของวาทกรรมเผยตัวออกมาโดยโรงเรียนบังคับให้ต้องท่องทุกเช้า และติดบอร์ดหราทั่วโรงเรียน
เหมือนกับการเปิดเพลง “คืนความสุข” ถี่ยิบทุกต้นชั่วโมง ทางวิทยุ ให้สมองคนเราจะจดจำอะไรซ้ำ ๆ จนเข้าไปในสมองจนเคยชิน และไม่ตั้งคำถาม
เมื่อทำไปตามนี้ได้ ผู้ใหญ่ก็จะชมเชยว่า เป็นเด็กดี เก่ง ส่วนที่เหลือก็ลดหลั่นความดีลงมา ส่วนคนที่ตั้งข้อสงสัยหรือไม่เชื่อฟังความรู้ชุดนี้ ก็จะถูกกีดกันและลงโทษจากระบบ เพียงเพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง
อำนาจแนวดิ่ง VS เสรีภาพทางความคิด
ภาคปฏิบัติการจริง ยังมาในรูปแบบระเบียบวินัยถึงเนื้อถึงตัว นักเรียนชายยังคงต้องตัดผมสั้นเกรียน นักเรียนหญิงตัดผมสั้นเสมอติ่งหู หรือผูกเปีย – มัดผม อ้างว่า ทำให้เกิดความเรียบร้อย หลายโรงเรียนยังห้ามทำสีผม
แม้แต่เสื้อผ้า กางเกง ถุงเท้า รองเท้า ชุดลูกเสื้อ ชุดพละ แหวน ต่างหู ฯลฯ ล้วนบังคับให้เด็กต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะมีบทลงโทษ กระทั่ง เดินผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มหลัง ห้ามเถียงครูบาอาจารย์
ถ้าออก “นอกลู่นอกทาง” ตามการนิยามของ “ผู้ใหญ่” ก็จะถูกทำให้กลายเป็นเด็กดื้อ
ตัวอย่างเช่น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ชูป้ายที่มีข้อความว่า “สอนเด็กไทยไม่ให้โกง ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรม ดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง #จากใจนักเรียนถึงลุงตู่” ก็ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมตัวเพราะชูป้ายเพื่อตั้งคำถามต่อหัวหน้ารัฐบาล
หรือกรณีของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กับการตั้งคำถามพิธีกรรมหน้าเสาธง กราบไหว้ ฯลฯ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา
การควบคุมด้วยระเบียบวินัย หมายถึง การครอบงำบางอย่าง ไม่ว่าเรื่องทรงผม หรือเล็บ ก็ควบคุมทางร่างกาย ตลอดจนการครอบงำโดยให้ผู้ถูกปกครองด้วยกันเอง ทำหน้าที่ตรวจคนที่มีแนวคิดขบถต่ออำนาจ กฎเกณฑ์ที่ถูกเขียนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงซุบซิบนินทาจากเพื่อนด้วยกัน เพื่อนไม่คบ จนถึงตีด้วยไม้เรียว เข้าห้องปกครอง ถึงขั้นไล่ออกในที่สุด นานวันเข้า
ร่างกายก็ยินยอมกับการกำกับ จนผู้ถูกปกครองอ่อนเปลี้ย เพลียแรง ที่จะต่อต้าน
ผู้ใหญ่ในฝันวาทกรรม “คนดี” อำนาจที่มากกว่า
ผู้ใหญ่ (บางคน) ในปัจจุบันเติบโตขึ้นมาภายใต้วาทกรรม “คนดี” ส่งไม้ต่อให้เด็กมีวาทกรรมนี้ และเมื่อเด็กเป็นผู้ใหญ่ก็ ส่งต่อให้เด็กซ้ำ วนเป็นเช่นนี้
แต่การเป็น “คนดี” มีข้อควรระวังว่า นิยามของมันคืออะไร
ปัญหาใจกลางก็คือ ใครมีอำนาจในการชี้นำความดี และ จะพิสูจน์กันอย่างไร เพราะหากเป็น “คนดี” อย่างที่ผู้ใหญ่นิยาม ความชอบธรรม และอำนาจต่อรองก็จะตามมา กดทับ กีดกัน ทำให้คนดีในแบบอื่นไร้ซึ่งอำนาจ
มีเรื่องเล่าว่า แก้วน้ำวางอยู่บนโต๊ะตัวเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน ที่ไม่เหมือนกันคือ คนเดินชนโต๊ะ คนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ อีกคนเป็นเด็ก ผลคือผู้ใหญ่บอกว่าแก้วนี้วางผิดจุดทำให้ตัวเองเดินชน ขณะที่เด็กจะโดนดุว่า เดินไม่ดูตาม้าตาเรือ แก้วน้ำก็วางของมันอยู่ดี ๆ
เรื่องข้างต้นซ่อนมุมมองแห่งการตัดสินคุณค่าว่า ใครผิด – ถูก ดี – ไม่ดี โดยอำนาจที่ว่าเป็นอำนาจจากผู้ใหญ่ที่บอกว่าตัวเองดีนั่นเอง ดังนั้น เวลาเราพูดถึงคนดีคำนี้จึงไปผูกกับอำนาจโดยอัตโนมัติ เมื่ออำนาจเข้าไปในระบบการปกครอง คนดีจึงมีอำนาจต่อรองมากกว่าคนที่ไม่มีคำคุณศัพท์ต่อท้าย
ผีย่อมเห็นผี คนดีย่อมเห็นคนดีด้วยกัน จากระบบการศึกษาที่มุ่งพัฒนาเด็กให้ดี สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอำนาจจาก
คนดีที่มีอภิสิทธิ์ผลิตเด็กให้เป็นประเภทเดียวกันได้
ทั้งหมดนี้ ทุกคนในสังคมถอดรื้อวาทกรรมดังกล่าวได้ ด้วยการสถาปนาความรู้ ความจริง ว่าด้วย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค เคารพความเห็นที่แตกต่าง และอดทน อดกลั้น อันเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสเอื้ออำนวยให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่กดทับ กีดกัน ใครออกไป
ผู้เขียน: จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ นักศึกษาวารสารศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็น Journalist ที่ Thaipublica
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2560