รับซื้อของเก่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่พยายามปรับตัวและดิ้นรนต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งเป็นอาชีพที่ควรได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นกลุ่มแรก ๆ แต่กลับถูกทอดทิ้งให้ต่อสู้อยู่เพียงลำพัง
ธวัช ไกรรักษ์ เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า “ธวัช รีไซเคิล” เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของร้านนี้มาจากพ่อที่เป็นพนักงานกวาดถนนอยู่ที่สำนักงานเขตห้วยขวาง และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถเก็บขยะ พ่อของเขาได้นำขยะรีไซเคิลมาให้ครอบครัวคัดแยกแล้วนำไปขายที่ร้านขายของเก่า เมื่อเริ่มมีทุนทรัพย์มากขึ้นก็ได้เปิดกิจการร้านรับซื้อของเก่าเรื่อยมาจนเป็นร้านอันดับต้น ๆ ย่านนี้
ร้านของธวัช จะรับซื้อของเก่าที่รีไซเคิลได้เท่านั้น เช่น กระดาษ พลาสติก ขวด อลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ส่วนมากกลุ่มลูกค้าของร้านมักเป็นกลุ่มที่แยกขยะมาจากบ้านและซาเล้งที่เก็บของเก่าจากโรงเรียน ร้านอาหารต่าง ๆ รวมถึงร้านของเก่ารายย่อยที่ซื้อของเก่ารีไซเคิลมาขายให้ทางร้าน
หลังจากรับซื้อของเก่ามาแล้ว ร้านจะแยกของเก่าแต่ละประเภทไปขายโรงงานต่าง ๆ เช่น กระดาษจะส่งเข้าโรงเยื่อกระดาษที่สมุทรสงคราม เศษเหล็กส่งโรงหลอมเหล็กที่ระยอง
ธวัชบอกว่า รายได้ที่เข้ามาเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ เพราะการนำของเก่าเหล่านี้ไปขายจะต้องขายผ่านเจ้าของโควตาซึ่งเป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างโรงงานและร้าน โรงงานแต่ละแห่งจะเป็นคนกำหนดราคารับซื้อ ส่วนเจ้าของโควตาจะได้รับเงินส่วนต่างไป โดยส่วนมากเจ้าของโควตาจะได้ส่วนต่างประมาณ 5-10 สตางค์ ต่อ 1 กิโลกรัม
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ระบาด ธวัช บอกว่า อาชีพรับซื้อของเก่าแบบพวกเขาต้องเผชิญสภาวะวิกฤตมาก จากลูกค้า 100% ได้หายไปประมาณ 70% เพราะกลุ่มลูกค้าที่มีพื้นเพอยู่ต่างจังหวัดจะเดินทางกลับต่างจังหวัดกันหมด
ยิ่งรัฐบาลประกาศคำสั่งปิดสถานประกอบการต่าง ๆ ทำให้รายได้ของร้านรับซื้อของเก่าลดลง เพราะไม่สามารถเข้าไปเก็บสินค้าต่าง ๆ ได้ “ธวัชรีไซเคิล” จึงทำได้เพียงแค่ประคองธุรกิจด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านที่ดิน เครื่องจักร และรถยนต์ลง และพยายามต่อลมหายใจเพื่อให้พอมีรายได้ในการจ่ายค่าแรงลูกน้องเท่านั้น
“เราไม่ปลดคนออก ไม่ลดเงินเดือน แรงงานของร้านคือเพื่อนบ้านของเราทั้งนั้น และเขาอยู่กับเรามานานแล้ว บางคนอยู่กันมา 14-15 ปี ถ้าลดค่าแรงแล้วเขาเดินทางกลับประเทศ โอกาสที่จะกลับมามันยาก เราก็ต้องช่วยเหลือกันไป” ธวัชยืนยันหนักแน่น
.
ร้านเปิดให้บริการตามปกติ แต่ได้เพิ่มมาตรการป้องกันตามคำแนะนำจากกรมควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ทั้งพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณร้านอยู่บ่อยครั้ง และลูกค้าต้องเว้นระยะห่างจากพนักงาน 1 เมตรขึ้นไป รวมถึงส่งพนักงานตรวจโควิดสม่ำเสมอ และหากลูกค้าไม่มีหลักฐานการตรวจโควิด ร้านก็ขอปฏิเสธการรับซื้ออกไปก่อน
“แต่ว่าเราก็ติดตามดูแลลูกค้าสม่ำเสมอนะ คอยสอบถามว่า เราบริการดีไหม เพื่อรักษาลูกค้าให้อยู่กับเราต่อไป” ธวัชบอก
เราถามถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐนั้น ธวัช เล่าด้วยความท้อใจว่า รัฐยังมองข้ามและยังมีความพยายามที่จะมาเก็บภาษีอีก ด้วย ซาเล้งไม่มีพื้นที่ทำกิน ไม่มีแม้กระทั่งที่พัก บางคนทำอาชีพนี้มาตั้งแต่รุ่นแม่ รุ่นลูกจนสู่รุ่นหลาน แต่ไม่เคยได้รับสวัสดิการอะไรจากรัฐบาลเลย
ธวัชบอกอีกว่า อาชีพรับซื้อของเก่าอย่างพวกเราต้องดิ้นรนช่วยเหลือกันเอง ทั้ง ๆ ที่เราช่วยจัดการขยะให้ภาครัฐ แต่รัฐก็ไม่ได้เห็นความสำคัญของอาชีพนี้
เมื่อถูกรัฐทอดทิ้ง คนในสมาคมซาเล้งและรับซื้อของเก่า ต้องช่วยกันบริจาคเงินและหาจุดในการแจกถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย และข้าวสาร เพื่อช่วยเหลือและพึ่งพาซึ่งกันและกันแทน
ที่ผ่านมาสมาคมฯ และร้านค้าของเก่าเกือบ 100 ร้านค้า ได้แจกถุงยังชีพประมาณ 5-6 ครั้ง จัดทำทั้งหมด 400 ชุด เป็นจำนวนเงินประมาณ 80,000 บาท แม้รัฐจะพยายามออกนโยบายความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพวกเขาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“อาชีพอิสระที่ต้องลงทะเบียนรับเงินเยียวยามาตรา 40 ที่จะได้รับเงินทั้งหมด 2 เดือน เดือนละ 5,000 บาท รวมถึงโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราชนะ” ที่ต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังมีความซับซ้อน และใช้เวลานาน ทำให้ผู้ที่ไม่ค่อยถนัดในเรื่องนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เกิดช่องโหว่ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ ยิ่งรัฐพยายามเก็บภาษีจากพวกเราอาชีพนี้ ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก” ธวัชถอนใจ
เขาบอกว่า รัฐพยายามจะมาจัดการให้ร้านรับซื้อของเก่าเข้าระบบภาษี หลาย ๆ ร้านเข้าระบบภาษีเหมาจ่าย ปีละ 5,000 บาท หากร้านไหนที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ภาครัฐจะให้ร้านนั้นจดภาษีมูลค่าเพิ่ม เข้าระบบ Vat ส่วนบุคคลและให้เปิดเป็นบริษัท แต่รัฐไม่ทราบสภาพที่เป็นจริงเลยว่า ผู้ประกอบการรวมถึงซาเล้งส่วนมากเติบโตมาจากคนเก็บขยะ จึงไม่มีพื้นฐานด้านภาษีเลย
เราได้ทราบข้อมูลจากธวัชว่า ปัจจุบันมีการเพิ่มค่าจัดเก็บภาษีรายปีของร้านรับซื้อของเก่า จากที่เคยจ่าย 5,000 บาท ก็ต้องจ่ายสูงขึ้นเป็น 7,000 บาท เรียกว่า ใบอนุญาต เป็นใบที่อนุญาตให้จัดเก็บวัสดุรีไซเคิลหรือของเหลือใช้ไว้ในพื้นที่ของร้านรับซื้อของเก่า
“ทุกร้านอยากเข้าระบบภาษีเหมาจ่าย แต่บางส่วนเข้าระบบนี้ไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่เช่าที่ไม่มีโรงเรือน อยากให้กรมสรรพากรชี้แจงให้ชัดเจนในการจัดเก็บภาษี เพราะทุกร้านอยากเปิดกิจการอย่างถูกต้องและไม่อยากให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง แม้เงิน 7,000 บาท จะมาก แต่พวกเราเต็มใจจ่าย หากจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและได้สวัสดิการจากภาครัฐที่ดีขึ้นด้วย” ธวัชบอก
อีกปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญคือ นโยบายการนำเข้าขยะรีไซเคิลมาจากต่างประเทศ เช่น ขยะรีไซเคิลประเภทพลาสติกและกระดาษ ทำให้ราคากระดาษและพลาสติกตกต่ำมาก จากที่กระดาษเคยขายได้ราคากิโลกรัมละ 6 บาท ก็เหลือเพียง 2-3 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
แม้รัฐบาลเคยประกาศว่าจะมีการยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติก แต่กลับลำขยายเวลาถึงเดือนมกราคม 2569 ทำให้มีจำนวนขยะภายในประเทศมากเกินไปและมีมลพิษภายในประเทศเพิ่มสูงมากขึ้น
“ผมก็อยากส่งสารนี้ให้ผู้มีอำนาจและกลุ่มนายทุน หยุดการนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศ เพราะราคาของเก่าในประเทศตกต่ำมาก ยิ่งในสถานการณ์โควิดที่ต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย มันทำให้บางกิจการต้องปิดตัวลงเพราะราคาที่ได้รับลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ทั้งค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารการกินมากขึ้น” เขาบอก
ภายใต้สภาวะนี้ที่โรคยังไม่คลี่คลาย อาชีพรับซื้อของเก่ารวมถึงซาเล้งพยายามเพื่อเอาชีวิตรอดต่อไป พวกเขาได้ปรับตัวกันอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่เสียงพวกเขาไม่ดังมากพอที่จะทำให้ภาครัฐสนใจหรือเพิ่มมาตรการเยียวยา
ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้มีการให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยสำหรับจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรือจูงใจให้ผู้ให้เช่าลดค่าเช่าผ่านการลดภาษีรายได้ของผู้ให้เช่าลงครึ่งหนึ่งของอัตราปกติ มาตรการเยียวเหล่านี้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้โดยตรง และสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก
หากรัฐให้ความสนใจทุกอาชีพอย่างเท่าเทียมกัน เสียงของซาเล้งและอาชีพรับซื้อของเก่าจะ ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศไทยสามารถเติบโตและสร้างรายได้ให้กับอาชีพรับซื้อของเก่าไปพร้อมกับการลดปริมาณขยะที่สามารถรีไซเคิลได้
แหล่งข้อมูล
สัมภาษณ์ ธวัช ไกรรักษ์ เจ้าของร้านของเก่า “ธวัชรีไซเคิล” ย่านห้วยขวาง
เว็บไซต์ https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2147657 เทียบมาตรการเยียวยา 9 ประเทศกับไทยเหมือนหรือต่างอย่างไร
เรื่องและภาพ: กฤตยา บุญรอด ไอซีที นิเทศศาสตร์ ศิลปากร รุ่น 15