เมื่อเช้าวันนี้ (16 มี.ค.) สาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดกิจกรรมแนะแนวเลือกเอก ให้กับนักศึกษาปี 1 รุ่น 12 ที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี มีศิษย์เก่าทุกสาขากว่า 10 คน ในแวดวงงานภาพยนตร์ สื่อสารมวลชน และสื่อสารเชิงธุรกิจ ร่วมสนทนา มีอาจารย์ศาสวัต บุญศรี ประธานสาขานิเทศศาสตร์ ดำเนินรายการ
เอกภาพยนตร์
บุญฤทธิ์ เวียงนนท์ หรือ “แคปเปอร์” ไอซีทีนิเทศศาสตร์รุ่น 3 เอกภาพยนตร์ นักแสดงเรื่อง 10 Years Thailand ปัจจุบันรับงาน Freelance ทั้งผู้กำกับ เขียนบท และนักแสดง บอกว่า เรียนภาพยนตร์สามารถเอาไปต่อยอดทำสื่อได้หลากหลาย ถ้าดูจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ศิษย์เก่า สามารถแบ่งงานได้ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันทำโปรดักชั่นเฮ้าส์ เช่น พวกรุ่น 1-4 รับงานทำโฆษณา ซีรียส์ หากทำงานดีก็จะได้ทั้งเงินและกล่อง อยู่ได้สบาย มีงานมาเรื่อย ๆ ยิ่งปัจจุบันมีสื่อออนไลน์ จึงมีงานเข้ามาหลากหลายทั้งเนื้อหาและราคา ขึ้นกับแต่ละคนจะขยันหาหรือพาตัวเองไปอยู่ตรงไหน ส่วนอีกกลุ่มก็ทำ Freelance ก็สามารถรับงานได้ทุกอย่างที่อยากจะทำ สำหรับผมทำทั้งเขียนบท กำกับ และเป็นนักแสดงด้วย
เขาบอกอีกว่า ความรู้และทักษะจากการเรียนภาพยนตร์ที่จะได้ไป คือ การพัฒนามุมมอง/ประเด็น การรีเสิร์จข้อมูล การเล่าเรื่อง การถ่ายทำ การจัดการต่าง ๆ กระบวนการหลังการถ่ายทำ งานในกระบวนการทำภาพยนตร์ทั้งหมด งานการจัดจำหน่าย งานภาพยนตร์มีมิติอื่นที่ไม่ใช่แค่ผู้กำกับ บางคนอาจจะเป็นนักวิจารณ์ นอกจากนี้ยังเรียนวิธีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมด สามารถเอาไปใช้ทั้งงานภาพยนตร์ งานโทรทัศน์ วีดิโอ โฆษณา และงานออนไลน์
“มีคนสงสัยว่า เรียนจบภาพยนตร์แล้วจะมีงานทำไหม ตอบว่า มีงานทำแน่ วงการนี้ยังต้องการคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาพัฒนา อย่างตอนนี้ขาดคนเขียนบท ขาดผู้กำกับมาก ๆ มันยังมีที่ทาง ในวงการเองก็มองกันว่า ต้องพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรม จะว่าไปแล้ว หนังไทยอาจจะยังเรียกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ได้เต็มปาก เพราะยังมีหนังไม่มากพอ และไม่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งผู้เรียนภาพยนตร์ เรียนจบแล้วน่าจะเข้ามาช่วยพัฒนาวงการได้อีกมาก”
เขาบอกว่า การพัฒนาตัวเองในระหว่างเรียนด้วยว่า ในด้านเนื้อหาก็ต้องดูหนังเยอะ ๆ อ่านหนังสือในประเด็นต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่ ปรัชญา สิทธิมนุษยชน ฯลฯ เพื่อนำตรงนี้ไปเป็นลายเซ็นของเราในหนังได้ ต้องรีเสิร์จมาก ๆ สำหรับผม ได้แรงบันดาลใจในการทำหนังจากคนไม่ว่าจะเป็นคนทั่ว ๆ ไป ตามท้องถนน ชาวนา คนเล็กคนน้อย เพราะอยากให้เรื่องราวของพวกเขาได้อยู่บนจอเพื่อให้ผู้ชมรับรู้ ส่วนเวลาทำงาน ความตรงเวลา ความรับผิดชอบถือเป็นเรื่องสำคัญ งานแต่ละชิ้นมีมูลค่า มีเวลา และเราไม่ได้ทำงานคนเดียวแต่ต้องดีลกับ 50 ชีวิต ที่สำคัญอีกประการคือ ภาษาอังกฤษ เพราะงานภาพยนตร์ในวันนี้เป็นเรื่องนานาชาติแล้ว
เขายังตอบคำถามน้อง ๆ ประเด็นมีการแข่งขันสูงหรือไม่ ว่า ไม่ เพราะงานมันมีเยอะ คนในวงการก็กระจายงานกัน แชร์กัน อันที่จริงถ้าเรามีมาตรฐานสูงถึงความต้องการของตลาด รสนิยมเป็นเรื่องสำคัญ เหล่านี้จะเข้ากับบุคลากรในวงการในตำแหน่ง ๆ ได้ไหม แต่บอกเลยว่า ไม่ต้องกังวล วงการโหยหาคนทำงานมาก มันวัดคนด้วยว่าเราจะอยู่ได้ไหม ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าเราทำได้และมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ต้องเตรียมใจว่า งานหนักมาก ออกกองถ่าย ตัดต่อ ถึงเช้า แต่งานหนักแบบนี้ก็จะเป็นตัวสกรีนว่า เรารักมัน เราจะอยู่กับมันได้ไหม
ส่วนเรื่องค่าตอบแทน เขาตอกบว่า มีงานที่ทำทั้งเพื่อเงิน และงานเพื่อแรงบันดาลใจที่อยากจะเล่าเรื่องบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จริง ๆ คนทำหนังก็หางานจากทำงานโฆษณา แล้วก็เก็บเงินมาทำหนัง ทำควบคู่กันทั้งงานโฆษณา หนังสั้น และพัฒนาหนังยาวไปพร้อมกันด้วย คนทำหนังเรื่องหนึ่งค่าตอบแทนไม่เยอะ ไม่ได้รวย แต่งานในกระบวนการภาพยนตร์มีหลากหลาย มันทำให้เราสามารถหาเงินได้หลายช่องทาง
เอกสื่อสารมวลชน
ชญานิศ จำปีรัตน์ หรือต้นรัก ไอซีทีนิเทศศาสตร์ รุ่น 7 วารสารศาสตร์ ปัจจุบันเป็น content creator บริษัท Future Trends กล่าวว่า ตนทำในส่วนงานเขียนออนไลน์ ภาพประกอบ สคริปต์ และวีดิโอ เป็นบริษัทกึ่ง ๆ สตาร์ทอัพ เพราะฉะนั้นคนหนึ่งต้องทำได้หลาย ๆ อย่าง สำหรับงาน content ที่ทำคือ นำมุมมองที่ได้จากการสัมภาษณ์ และค้นคว้ามาเล่าตามแนวทางของเพจ และไม่ใช่แค่ต้องเชี่ยวชาญด้านเนื้อหา แต่ต้องมีความรู้ในเชิง marketing ด้วย เพราะต้องคิดว่า จะเขียนเนื้อหาอย่างไรให้เนื้อหามันขึ้นฟีด ความยากคือ มีเพจเปิดใหม่เยอะมา ใคร ๆ ก็เปิดได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดบริษัท มันแข่งขันสูงมาก แต่มันก็ท้าทาย
“เรียนวารสารศาสตร์ เกี่ยวกับ Fact การจับประเด็น การออกไปสัมภาษณ์ เราทำเนื้อหาไปเพื่ออะไร จะสื่อสารไปเพื่ออะไร เกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร สิ่งที่เรียนมาทั้งหมดนี้มันเอาไปใช้ในงานได้ทั้งหมด และอันที่จริง มันคือพื้นฐานของงานทุกสาขาด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี ที่มีคนบอกว่า งานวารสารศาสตร์จะตาย ตนบอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะคนยังเสพ content อยู่ ฉะนั้นคนที่จะมาทำงานด้านนี้ต้องอยากรู้เรื่องรอบ ๆ ตัวตลอด ต้องติดตามข่าวตลอด พัฒนาทุกทักษะทั้งเขียน ภาพ เสียง กราฟิก”
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย หรืออีฟ ไอซีทีนิเทศศาสตร์ รุ่น 3 วารสารศาสตร์ ปัจจุบันเป็น กองบรรณาธิการ The 101.world รางวัลชมเชยข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประเภทสื่อออนไลน์ ปี 2561 แอมเนสตี้ประเทศไทย กล่าวว่า ทำงานในส่วนงานเขียนสารคดี สกู๊ป บทสัมภาษณ์ งานวีดิโอ ทำทุกอย่างที่ออนไลน์มันทำได้ ทั้งนี้ content ที่ตนทำเป็นประเด็นหนัก ความท้าทายคือ เมื่อเนื้อหาไปอยู่ออนไลน์ งานที่ออกมาจะยาว แต่คนอาจจะไม่อ่าน มีคนเชื่อกันว่า คนอ่านออนไลน์อ่านสั้น ๆ และมันอาจจะขายไม่ได้ แต่เราเชื่อว่า ความยาวไม่ใช่ปัญหา คุณภาพต่างหากที่สำคัญ และนี่เป็นสิ่งที่ยึดถือ คือคิดถึงงานที่เข้มข้น แต่คนอ่านเยอะด้วย หมายความว่างานต้องดี แต่ไม่ได้หมายความว่า เนื้อหาสั้น ๆ ไม่มีคุณภาพ แต่เป็นเรื่องของแต่ละองค์กรมากกว่า
“เนื้อหางานประเภทข่าวและสารคดี ตลาดต้องการมาก เพราะมันหายาก มักจะเห็นกันว่า คนเรียนนิเทศศาสตร์พูดเก่ง เล่นอุปกรณ์เก่ง แต่สิ่งที่ยังขาดคือความเข้มข้นของความรู้ที่เราอยากจะสื่อออกไป อย่างสารคดีที่ทำเรื่องคลองหลอด (อ่านเพิ่มเติม //www.the101.world/prostitution-in-klonglord/) เวลาทำเรื่องโสเภณี ไม่ใช่แค่คนขายตัว แต่เป็นเรื่องโครงสร้างสังคม กฎหมาย ชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ต้องคิดให้ลึกและรอบว่า ทำไมเขาไม่มีทางเลือก เพราะสังคมมีโครงสร้างอำนาจแบบไหน ความเข้มข้นแบบนี้เป็นสิ่งที่ขาดตลาด แต่ถ้าคนไม่ชอบจะเรียนไม่สนุก แต่ถ้าชอบแล้วจะมัน”
เขาบอกอีกว่า ชอบมีคำพูดที่ว่า วารสารศาสตร์ตายแล้ว ขอพูดตรงนี้เลยว่าไม่ตาย และยากมากที่จะตาย เพราะมันไม่ใช่แค่สิ่งพิมพ์ แต่มันคือข้อมูลข่าวสาร โลกนี้เป็นโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร มันแค่เปลี่ยนไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ วันหนึ่งสิ่งพิมพ์อาจตาย แต่ content ไม่ตาย แล้วมันกลายร่างเป็นอะไรก็ได้ แล้วความรู้ในตัวนักนิเทศศาสตร์ไปทำอะไรก็ได้ เป็นความรู้ที่มหัศจรรย์มาก เราจบนิเทศศาสตร์เราเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ไม่ต้องกลัวจะตกงาน กลัวอย่างเดียวว่าเราไม่ขวนขวายมากพอ
ปาณิสยังตอบคำถามน้อง ๆ ว่า จะเป็นเหยี่ยวข่าวสาว ได้ไหม ว่า ถ้าจะเป็นคนทำข่าวเจาะลึก ขุดคุ้ย คนอย่างแบบฐาปนีย์ เอียดศรีไชย ก็ต้องมีชั่วโมงบินสูง จะไปถึงตรงนั้นต้องใช้เวลา ความทุ่มเท และต้องแน่วแน่ เพราะบางประเด็นไม่ถูกจริตสังคมก็อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ บางคนอาจรู้สึกบั่นทอนกำลังใจตนเอง ซึ่งวิธีการคือ ตอบให้ได้ก่อนว่า ทำ content นั้นไปเพื่ออะไร ถ้าตอบไม่ได้ก็เหนื่อยตั้งแต่เดินออกจากบ้านแล้ว ตนทำเรื่องหญิงขายบริการ ไม่ได้รับสิทธิสุขภาพ ตนคิดว่า ถ้าทำให้ถูกกฎหมายได้รับการประกันสวัสดิการต่าง ๆ จะดีกว่า
“มันขึ้นกับว่า คุณใช้แว่นหรือกรอบแนวคิดแบบไหน ถ้าใช้สายตาความเป็นมนุษย์ หลักสิทธิมนุษยชน การมีกฎหมายคุ้มครองก็น่าจะมาประกันตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่หลัก ยืนบนหลักยึดให้ได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องกังวล การจะมีหลักยึดที่แม่นยำต้องฟังเยอะ สนใจเยอะ ถามเยอะ อย่าเข้าไปทำงานแบบเก่งแล้ว เพราะมันมีคนเก่งอยู่ในนั้นเยอะมาก ยิ่งเราฟังมาก สังเกตมาก ถามมาก คุยมาก ก็จะได้ประสบการณ์ แม้ตอนเรียนจะเก่ง แต่พอจบออกไปมีคนเก่งเยอะมาก เราก็เป็นแค่คนเริ่มหัดเดิน แต่เราสามารถพัฒนาตัวขึ้นได้”
นวพร เรืองศรี หรือ กุ้ง ไอซีทีนิเทศศาสตร์รุ่น 2 ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานในส่วน marketing ของแกรมมี่ เล่าว่า ทำงานด้านดนตรีตั้งแต่ Fat radio มาถึง Cat radio เป็น creative ปัจจุบันอยู่แกรมมี่ โดยทำในส่วนคอนเสิร์ต เป็นงาน marketing น้อง ๆ อาจสงสัยว่า ทำไมเปลี่ยนมาทำด้าน marketing ขอตอบว่า เอาเข้าจริงแล้วงาน content creator ต้องคิด marketing อยู่แล้ว เพราะต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้คนดู คนฟังเขาฟัง
เขาบอกว่า การเรียนเอกสื่อสารมวลชน หากจะเน้นสื่อสร้างสรรค์ จบไปแล้วก็ทำได้หลายอย่าง เช่น โปรดิวเซอร์รายการทีวี โปรดักชั่นเฮ้าส์ ครีเอทีฟ เป็นคนคิดรายการว่า จะทำอะไรออกอากาศ คนคณะเราเรียนจบออกไปแล้วก็ไปทำหลายอย่าง เช่น รายการเทยเที่ยวไทย รถโรงเรียน นักข่าว ผู้กำกับ นักแสดง ตากล้อง วีดีโอบนออนไลน์ หรืองานวิทยุ อย่างไรก็ดี งานวิทยุปัจจุบันคนฟังเป็น segment มากขึ้น และคนสามารถเลือกเสพได้จาก podcast ก็อาจจะไม่ป็อบปูล่าเหมือนเดิม เพราะออนไลน์แข็งแรงกว่าเยอะ วิทยุมันใช้สำหรับฟัง มันมีข้อจำกัดของมันอยู่ แต่การพูดคุยมันก็ดูใกล้ชิดกับคนฟัง ซึ่งมันก็มีงานทำ แต่อาจจะไม่ได้บูมเท่าสมัยก่อน
“ทักษะสำคัญคิดว่าเป็นเรื่องความยืดหยุ่น เพราะคุณต้องเจอะคนเยอะ คนเก่งเยอะ แต่เมื่อเก่งเจอกันหลายครั้งงานไม่เดิน ฉะนั้นเราต้องจัดการและยืดหยุ่นให้งานทั้งหมดมันเดินไปข้างหน้าได้ มันจึงต้องปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์
เขายังตอบคำถามน้อง ๆ ว่า จบใหม่ได้เงินเดือนเท่าไหร่ว่า ราว 15,000-18,000 บาท ขึ้นกับพอร์ทด้วย แต่ก็เป็นไปได้ที่จะได้ 25,000 บาท ส่วนใหญ่คือฝึกงานที่นั่นและมีศักยภาพ เอาเข้าจริง อย่าคาดหวังปีแรกจะได้เยอะ ๆ เพราะเราไม่ใช่แค่ทำงานปีเดียว น้อง ๆ ไม่ต้องกังวล เลือกเรียนที่ชอบ และต้องหาความรู้หลากสาขา เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดงาน 1 ชิ้นแล้วจบ แต่มันต้องคิดงานเป็นก้อน ไม่ใช่เรียนทีวีแล้วต้องจบที่ทีวี แต่ต้องคิดถึงระบบการกระจายงานทั้งหมด
ปุญญพัฒน์ ทองทรง หรือ ปุน ไอซีทีนิเทศศาสตร์รุ่น 7 ปัจจุบันเป็น community associate ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล และทำเนื้อหา และทำรีพอร์ทส่งลูกค้า บอกว่า คณะเราเรียนจบไปเป็นผู้คุมภาพก็ได้ (Director of Photography) งานเอเจนซี่ งาน content (เขียนบท) สายโฆษณา หรือเป็นสไตลิสต์ก็มี ขอให้คิดว่า ไม่จำเป็นว่าเรียนด้านโทรทัศน์มาแล้วต้องทำเฉพาะโทรทัศน์ มันเป็นเรื่อง content ทั้งหมด วันนี้มีออนไลน์ มันทำ content ได้หลากหลายแบบ ทั้งนี้ คิดว่า ทักษะการสื่อสารจัดการงานและคนสำคัญมาก ต้องมีระบบการจัดงานที่ดี อดทน ขยัน กล้าคิด กล้าถาม
เอกสื่อสารเชิงธุรกิจ
จารุนันท์ แสงจันทร์ หรือ กิ่ง ปัจจุบันเป็น customer support specialist ที่ Choco CRM เล่าว่า งาน CRM คือการใช้ข้อมูลหาช่องทางที่เหมาะสมทำแคมเปญสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเราตลอด สำหรับคนที่เรียนจบสาย CRM แล้ว สามารถทำงานได้หมดทุกอย่าง เพราะ CRM ตั้งต้นมาจากลูกค้า ภาคธุรกิจไหน ๆ ก็มีลูกค้า แต่ให้น้อง ๆ คิดว่า ตัวเรามีเป้าหมายอยากทำอะไร แต่ถ้าตั้งต้นก็คงเป็นงานบริการลูกค้าก่อน เป็นงานลักษณะ “customer touch point” สัมผัสลูกค้าก่อน ทั้งนี้ ตลาดงาน CRM ยังมีที่ว่างเยอะมาก
“จริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่อุตสาหกรรม แต่อยู่ที่ตัวเราว่า ตั้งใจแค่ไหน เก่งที่นี่แต่อาจเป็นศูนย์อีกที่หนึ่งก็ได้ ส่วนถ้าถามว่าเงินเดือนเริ่มต้นเท่าไหร่ ต้องบอกว่าบริษัทต้องการกำไร ซึ่งเราก็ต้องมาดูตัวเองว่าเราจะทำอะไรให้บริษัทได้บ้าง”
ณัฐกร จุลระศร หรือ บุ๊ค ปัจจุบันเป็น copywriter ที่ Ogilvyบอกกว่า เปรียบเทียบง่าย ๆ งานโฆษณาหาคนเข้ามา ส่วน CRM คือ คนเข้ามาแล้วอยู่กับแบรนด์ เน้นผู้รับสารเป็นหลัก ลูกค้าเป็นใคร แล้วเราต้องทำอะไรกับคนกลุ่มนั้น แต่เอาเข้าจริง เรียน CRM ทำได้เกือบทุกอย่าง เพราะเราทำงานสัมผัสกับมนุษย์ ตลาดงานในสาย CRM ยังมีความต้องการเยอะ อย่างรุ่นผมจบแค่ 7 คน หมายความว่า คนที่จะเข้าสู่ตลาดงาน CRM ยังมีน้อย ทั้งนี้ ทักษะที่จำเป็นต่อ CRM คือพร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ส่วนเรื่องเงินเดือนก็มีตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงมาก แต่ที่ได้มากคือต้องดูปัจจัยอื่นด้วยว่าสมัยเรียนทำงานมากแค่ไหน
เบญจลักษณ์ ดีใหญ่ หรือ เบล ปัจจุบันเป็น project manager ที่ Rabbits Tale บอกว่า การเรียนสายโฆษณามันไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับภาพ ออกกองถ่าย ผู้กำกับ เป็นเอเจนซี่ก็ได้ และตอนนี้เป็น business consult ก็ได้ ตลาดงานยังมีอีกเยอะ
“แต่สุดท้ายเรากล้าที่จะถาม และกล้าที่จะโง่ไหม คือต้องเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา ส่วนเรื่องเงินเดือนไม่อยากให้ดูเรื่องนี้เป็นหลัก เพราะต้องดูว่าเราทำงานให้บริษัทได้แค่ไหน”
วนาลี ไกรระวี หรือ อิงอิง ปัจจุบันเป็น art director ที่ Greyns บอกว่า งานครีเอทีฟไม่ได้เป็นแค่หนังโฆษณาหรือป้ายโฆษณา แต่ทุกอย่างสามารถเป็นโฆษณาได้หมด ตลาดงานสายนี้ยังมีเยอะ
“ปีหนึ่ง ๆ มีคนจบนิเทศศาสตร์เป็นพัน ๆ แต่เราควรเลือกได้ว่าอยากทำอะไร ซึ่งตัวเองต้องมีจุดแข็งที่ชัดเจนเสียก่อน ส่วนคนที่ต้องการทำงานสายนี้ ต้องเป็นคนที่มีใจอยากทำ ตั้งใจทำ คือเรียนรู้กันได้ ไม่ต้องเก่งมาตั้งแต่ต้นก็ได้ เพราะงานโฆษณาต้องเรียนรู้ตลอด ต้องเป็นคนช่างสังเกต ชอบพูดคุยกับคน เพื่อเอาสิ่งที่ได้ไปฝึกหรือสร้างสรรค์ผลงานได้ และหากถามว่าจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ ก็อยู่ที่ว่าเก่งขนาดไหน วัดกันตั้งแต่ตอนเรียนว่ามีผลงานแค่ไหน”